สงครามชิป (จบ)
นโยบายกีดกันการค้าในอุตสาหกรรมไฮเทคครั้งนี้จึงเหมือนการที่สหรัฐฯ กระโดดเข้าชกกำแพงเมืองจีนอย่างแรง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเจ็บตัวจนมีแผลเต็มไปหมด
ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐในการปกป้องระบบเศรษฐกิจของตัวเองมักจบลงที่การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อประเทศต่างๆ ซึ่งผลที่ได้มักย้อนกลับมาทำร้ายประเทศตัวเองในภายหลังเสมอ
อาทิเช่น มาตรการกีดกันการขนส่งสินค้าของต่างชาติในช่วงปี ค.ศ. 1920 ที่ตั้งใจปกป้องการขนส่งสินค้าเข้าประเทศสหรัฐฯ กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาเศรษฐกิจให้หลายประเทศจนสะท้อนกลับมาถึงสหรัฐฯ ในภายหลัง
มาตรการกีดกันทางการค้าต่อประเทศจีนจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของนักการเมืองสหรัฐฯ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมานับร้อยปี โดยเฉพาะการต่อต้านจีนไม่ให้เติบโตในอุตสาหกรรมไฮเทคด้วยการจำกัด การขาย การส่งออก และการถ่ายทอดเทคโนโลยีชิปคอมพิวเตอร์ให้จีนอย่างเต็มพิกัด
แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้สอดคล้องกับระบบนิเวศในอุตสาหกรรมดิจิทัลของโลกในปัจจุบันเลย โดยประการแรก สหรัฐฯ ไม่ได้ตระหนักว่าสถานะของตัวเองในตลาดโลกไม่ได้เป็นผู้ผลิตอีกต่อไปแล้ว
เพราะปัจจุบันก้าวเลยไปจนกลายเป็นแหล่งระดมทุน เป็นศูนย์รวมนักลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลจากทั่วโลก ไม่ใช่การเป็นฐานการผลิต
ผลกระทบที่เกิดขึ้น
จากมาตรการที่ผิดพลาดดังกล่าวจึงส่งผลสะท้อนต่อระบบการเงิน และหมุนกลับไปสร้างภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินที่ผันผวนไปทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมกลับไปสร้างปัญหาให้กับตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ในท้ายที่สุด
ประการที่สอง ความพยายามคงความเป็นหนึ่งของสหรัฐฯ นั้นไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ด้วยการทุ่มให้อเมริกาเป็นเบอร์หนึ่งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคชิปเซมิคอนดักเตอร์ แต่จำนวนประชากรที่น้อยกว่าจีนถึง 4 เท่าทำให้อเมริกามีอุปสงค์ในตลาดเพียง 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
ในขณะที่แหล่งผลิตหลักของโลกในปัจจุบันคือไต้หวัน เกาหลี และจีน ซึ่งค่อยๆ เพิ่มอุปทานในตลาดมาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับการเติบโตในประเทศจีนที่มีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน
จีนจึงเป็นประเทศที่มีอุปสงค์ในตลาดเซมิคอนดักเตอร์สูงที่สุด จริงอยู่ว่าในแง่มูลค่าสหรัฐฯ อาจโดดเด่นกว่าเพราะเน้นการใช้งานในแบบไฮเอนด์ ด้วยความต้องการในเชิงการทหารและด้านธุรกิจ เช่นเซิร์ฟเวอร์ประสิทธิภาพสูง แต่ในแง่การใช้งานทั่วไปเช่นชิปในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นตลาดหลักแล้วไม่มีทางที่จะมากเท่ากับประเทศจีนได้เลย
จากการประเมินโดย BCG ที่สำรวจตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลกพบว่า การตัดจีนออกจากการเป็นลูกค้าหลักของสหรัฐในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อาจทำให้รายได้ของผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ของสหรัฐฯ ติดลบมากกว่า 37% เลยทีเดียว
ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นแล้วในวันนี้ก็คือราคาหุ้นของบริษัทชั้นนำในด้านเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา อย่าง AMD ที่ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 51% เช่นเดียวกับ NVIDIA ที่ลดไปเกือบ 45% และ INTEL ที่ลดลงไปประมาณ 39%
ประการที่สาม การย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ นั้นอาจฟังดูดีในระยะแรก เพราะทำให้การจ้างงานคึกคัก การก่อสร้างโรงงานก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อย่าลืมว่าสหรัฐฯ เหินห่างจากการเป็นฐานการผลิตโรงงานแบบนี้มานับสิบๆ ปีแล้ว
ความเชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ยกระดับจากการผลิตไปสู่การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมการบริการ ซึ่งเป็นวิทยาการชั้นสูง ตรงกับข้ามกับโรงงานการผลิตที่เน้นการใช้แรงงาน เช่นโรงงานของไต้หวันที่สามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชม. เพื่อเร่งการผลิต ซึ่งสหรัฐฯ จะทำแบบนั้นได้หรือไม่
นโยบายกีดกันการค้าในอุตสาหกรรมไฮเทคครั้งนี้จึงเหมือนการที่สหรัฐฯ กระโดดเข้าชกกำแพงเมืองจีนอย่างแรง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเจ็บตัวจนมีแผลเต็มไปหมดโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะสร้างความเสียหายให้กับกำแพงได้มากน้อยแค่ไหน