เรียนรู้ต่อยอดตลอดชีวิต
ความรู้เป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดในโลกยุคปัจจุบัน
สำหรับผู้ชื่นชอบภาพยนตร์จีนกำลังภายในจำนวนไม่น้อยอาจสงสัยในพลังของจอมยุทธ์ทั้งหลาย เพราะในยุคนั้นไม่มีทั้งอาวุธปืนและระเบิดที่จะใช้ทำสงครามหรือประหัตประหารกัน จึงมีแต่การใช้วิทยายุทธ์ที่ดูเหมือนจะเกินพละกำลังของมนุษย์ในยุคปัจจุบันไปมาก
แต่ถ้าดูจากประวัติศาสตร์จีนโบราณเราก็อาจพอเห็นภาพว่า หากมีวิทยายุทธ์เหล่านั้นจริงมันก็น่าจะสาปสูญไปแล้วในปัจจุบันเพราะเหล่าปรมาจารย์เจ้าสำนักส่วนใหญ่มักจะเก็บ “ไม้ตาย” ไว้กับตัวไม่ยอมสอนลูกศิษย์เพราะกลัวจะถูกล้างครูในอนาคต
นั่นหมายความหากเจ้าสำนักมีวิทยายุทธ์ทั้งหมด 100 กระบวนท่าก็จะถูกสอนไปยังลูกศิษย์เพียงแค่ 99 ท่า จนเมื่อเจ้าสำนักตายไป ลูกศิษย์เติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าสำนักแทนก็จะมีวิทยายุทธ์ที่ถ่ายทอดออกไปแค่ 98 ท่าเพราะต้องเก็บท่าไม้ตายของตัวเองเอาไว้เช่นกัน
ผลก็คือผ่านไปไม่นานนัก จำนวนวิทยายุทธ์ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น 0 ในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบันเมื่อองค์กรแต่ละแห่งไม่สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาและความรู้อย่างต่อเนื่องได้จนต้องล่มสลายลง
การเรียนรู้และต่อยอดจึงต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นในองค์กรนับตั้งแต่ระดับพนักงานใหม่ที่ต้องมี การเสริมทักษะใหม่ๆ และมีช่องทางในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมถึงพัฒนาให้เขาสามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับเพื่อนร่วมงานได้อย่างเต็มที่
จนถึงวันหนึ่งเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้บริหารเขาก็พร้อมที่จะช่วยสอนความรู้และทักษะใหม่ๆ ให้กับทีมงานรุ่นใหม่ และสร้างนิสัยในการรักการเรียนรู้และเทคนิคในการถ่ายทอดการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปกลายเป็นวัฏจักรที่สร้างองค์กรให้ปรับตัวได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
สอดคล้องกับหลักคิดของขงจื้อที่แนะนำพื้นฐานง่ายๆ เพียง 3 ข้อเพื่อการเรียนรู้และต่อยอดขององค์กร เริ่มจากข้อแรกคือต้องหมั่นเรียนรู้ทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะทุกวันนั้นมีสิ่งใหม่เกิดและเติบโตขี้นเสมอ
หากเรามีชุดความคิดที่ดีและกระตุ้นให้ตัวเองคิดบวกต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จะส่งผลให้เรามีความสุขเมื่อเจอความท้าทายใหม่ๆ และมองเห็นมันเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค และการสะสมความรู้แบบนี้ก็จะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวไปอีกนานจนทำให้เราเข้าสู่วัยชราได้อย่างมีความสุขเพราะยังสนุกกับการเรียนรู้อยู่เสมอ
ข้อที่ 2 ต้องทำตัวเหมือนคนที่มีน้ำครึ่งแก้วและพร้อมจะเติมเต็มอยู่เสมอ อย่าเป็นน้ำเต็มแก้วที่ไม่สามารถเติมน้ำเพิ่มได้อีกเพราะล้นแล้ว นั่นคือการเบื่อหน่ายการเรียนรู้ ซึ่งคนที่เพิ่งเป็นบัณฑิตก็อย่าคิดว่าตัวเองบรรลุจุดสูงสุดของวิชาความรู้แล้วเพราะยังมีเรื่องต่าง ๆ ให้เรียนอีกมากมาย
ข้อที่ 3 เมื่อเรียนรู้อย่างถ่องแท้แล้วก็ต้องรู้จักการถ่ายทอด เพราะยิ่งถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นการทบทวนและทำให้เราเก่งมากขึ้นเท่านั้น เมื่อรวมกับข้อ 2 ก็จะทำให้เราไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วนำมาถ่ายทอดผู้อื่นต่อไปเป็นวัฏจักร
เพราะความรู้เป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดในโลกยุคปัจจุบัน การเรียนรู้ การถ่ายทอด จึงเป็นการต่อยอดที่ดีที่สุด และหากเราสร้างชุดความคิดให้ตัวเรามีความสุขกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ก็เท่ากับเราสามารถแสวงหาความสุข และพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต