มองการเลือกประธานาธิบดี 16 ครั้งในอเมริกา

มองการเลือกประธานาธิบดี 16 ครั้งในอเมริกา

ในบรรดากระบวนการเลือกประธานาธิบดีของสหรัฐในช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ครั้งล่าสุดซึ่งเพิ่งเปิดการลงคะแนนเมื่อวันอังคารดูจะสร้างความกระสับกระส่ายให้ชาวอเมริกันสูงเป็นพิเศษอีกครั้งหลังเกิดขึ้นเมื่อปี 2507 ในช่วงวลา 60 ปี ผมมีโอกาสสังเกตกระบวนการอย่างใกล้ชิดมากเนื่องจากอาศัยอยู่ในสหรัฐ (แต่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเพราะเป็นคนไทย) ยกเว้นเมื่อปี 2519 ซึ่งผมไม่ได้อยู่ที่นั่น

ในกระบวนการเลือกเมื่อปี 2507 ปัจจัยที่สร้างความกระสับกระส่ายให้ชาวอเมริกันสูงเป็นพิเศษ ได้แก่ ความขัดแย้งในเวียดนามกำลังขยายออกไปเป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ พร้อมกับสร้างความแตกแยกร้ายแรงในสหรัฐอย่างกว้างขวาง 

คำปราศรัยในพิธีรับเป็นตัวแทนของพรรคริพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของวุฒิสมาชิก แบร์รี โกลด์วอเตอร์ มีประโยคหนึ่งซึ่งทำให้ชาวอเมริกันหวั่นวิตกมาก เนื่องจากตีความหมายว่า เขาจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ยุติสงครามเวียดนามหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี การใช้อาวุธมหาประลัยนั้นจะนำไปสู่สงครามโลกครั้ง 3 ซึ่งจะทำให้โลกถูกทำลาย

หลังจากนั้นมีการเลือกบางครั้งที่สร้างความน่าสังเกต เช่น ในปี 2511 ความแตกแยกร้ายแรงในสังคมอเมริกันเพราะสงครามเวียดนามทำให้ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ไม่ลงสมัครเพื่อดำรงตำแหน่งต่อ ในปี 2519 ปี 2523 และปี 2563 ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ลงสมัครอีกครั้งแต่ชาวอเมริกันไม่เลือก

ในปี 2543 และปี 2559 ผู้ชนะได้คะแนนเสียงจากประชาชนต่ำกว่าผู้แพ้ แต่เนื่องจากระบบอเมริกันใช้วิธีเลือกตัวแทนจากรัฐไปเลือกประธานาธิบดี เรื่องแนวนี้จึงเกิดขึ้นได้ ในปี 2559 ตัวแทนของพรรคเดโมแครตเป็นสตรีซึ่งไม่เคยมีมาก่อน การไม่พร้อมรับความเท่าเทียมของสตรีอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นางไม่ได้รับเลือก

ในปี 2551 และ 2555 ผู้ชนะเป็นชายผิวสีคนแรก ซึ่งแม่เป็นหญิงอเมริกันผิวขาวและพ่อเป็นนักศึกษาชาวเคนยาผิวดำ แม้การเหยียดผิวยังมีเป็นที่ประจักษ์อยู่ทั่วไป แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เหยียดผิว

กระบวนการเลือกครั้งล่าสุดสร้างความกระสับกระส่ายให้ชาวอเมริกันสูงเป็นพิเศษอีกครั้ง เนื่องจากสังคมกำลังแตกแยกร้ายแรงไม่ต่ำกว่าในช่วงสงครามเวียดนาม ตัวแทนของพรรคเดโมแครตเป็นสตรีผิวสี ซึ่งแม่เป็นชาวอินเดียและพ่อเป็นชาวจาเมกาผิวดำ ทำให้คนอเมริกันบางส่วนที่ยังเหยียดผิวและไม่พร้อมรับความเท่าเทียมของสตรีวิตกว่านางจะชนะ

ส่วนตัวแทนของพรรคริพับลิกัน ได้แก่ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งพ่ายแพ้เมื่อ 4 ก่อน เขามีประวัติด่างพร้อยมากจากพฤติกรรมที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติถอดถอนถึง 2 ครั้งในระหว่างดำรงตำแหน่งอยู่ 4 ปี เขากำลังถูกดำเนินคดีอาญาในหลายกรณีรวมทั้งการมีบทบาทในการก่อจลาจลหลังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกครั้งที่แล้ว โดยกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามโกงการลงคะแนนเสียง 

เขาแสดงความอาฆาตมาดร้ายและประกาศว่าจะใช้อำนาจรัฐกำจัดฝ่ายไม่เห็นด้วยทางการเมือง ชาวอเมริกันจำนวนมากมองว่ามาตรการแนวนี้เป็นวิธีล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ และจะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมือง

นอกจากนั้น การที่เขาถูกลอบสังหารแต่ไม่สำเร็จ 2 ครั้งในช่วงหาเสียง เป็นข้ออ้างที่ผู้สนับสนุนจำนวนมากใช้เป็นหนึ่งในหลักฐานในการกล่าวหาว่าจะถูกโกงอีกครั้ง มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้สนับสนุนเหล่านั้นพร้อมที่จะก่อจลาจลหากผลการลงคะแนนชี้ว่าเขาน่าจะแพ้ ด้วยเหตุนี้ เทศบาลกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นเมืองหลวงจึงร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในวันเลือกตั้งและหลังจากนั้น 

เช่น ทำรั้วรอบทำเนียบขาวและบ้านพักของรองประธานาธิบดีอีกหนึ่งชั้น สั่งกองกำลังรักษาความปลอดภัยให้อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมสูงสุด เสริมความแข็งแกร่งของประตูหน้าต่างในเขตเสี่ยงอันตรายด้วยแผ่นไม้อัด พร้อมกับสร้างรั้วชั่วคราวรอบอาคารร้านค้าและสำนักงานในย่านที่มีความเสี่ยงสูง

เมื่อส่งบทความนี้ตอนเที่ยงวันพุธ การนับคะแนนยังไม่เสร็จ แนวโน้มชี้ชัดว่านายทรัมป์จะชนะ สหรัฐจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนนั้นจะกระทบชาวโลกสูงมากแน่นอน