‘ทรัมป์2.0’ นักสู้หรือปีศาจในการเมืองสหรัฐ?
หลังจากที่รอดพ้นจากการถูกลอบสังหารถึงสองครั้งในช่วงการหาเสียง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็สามารถชนะการเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จ และกลับมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47
เขาได้ให้สัญญาตลอดการหาเสียงว่า จะพลิกฟื้นอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (MAGA) ด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะปรับลดอัตราภาษีเงินได้ เพื่อช่วยเหลือแรงงานและชนชั้นกลางในประเทศ
แม้ว่าแผนเศรษฐกิจของเขาตามแนวทางนี้ จะถูกทักท้วงไม่เห็นด้วยจากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลมากถึง 30 กว่าคนว่า จะเป็นการทำร้ายคนเหล่านั้น เพราะต้องแบกภาระในรูปของราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น
แต่ทรัมป์กลับดื้อและย้อนศรนักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นด้วยการตั้งคำถามพื้นๆ แบบบ้านๆ และโดนใจชาวอเมริกันจำนวนมากว่า “Are you better off than you were 4 years ago?”
ซึ่งดูเหมือนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐต่างๆ รวมถึงรัฐสำคัญอย่าง “สวิงสเตต” ทั้ง 7 รัฐต่างก็เทคะแนนเสียงให้กับทรัมป์จนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในครั้งนี้
เนื่องจากทรัมป์จะไม่ลงสนามเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าแน่นอน ดังนั้น การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่สองนี้ เขาไม่ต้องห่วงพะวงกับคะแนนเสียงในอนาคตอีกต่อไป
จึงมีอิสระเต็มที่ที่จะทุ่มเทเวลาทำงานทั้งหมดให้กับการสร้างเกียรติประวัติในระดับตำนานเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ห่างไกลความจริง เพราะพรรครีพับลิกันอาจกวาดเสียงข้างมากมาได้จากทั้งสองสภาด้วย
ทรัมป์จึงมีโอกาสจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการเมืองใหม่ (new political movement) ให้กับพรรครีพับลิกันในการหยั่งรากสร้างฐานเสียงในกลุ่มชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางมากขึ้น และบนต้นทุนทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม
ทรัมป์ 2.0 ภายใต้ทีมงานคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ทั้งด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และตลาดเงินตลาดทุน เป็นต้นนั้นจะมีภารกิจหลักอย่างน้อย 5 ด้าน
ได้แก่ การยกเลิกกฎหมายข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ การขับไล่ผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย การยุติสงครามยูเครนกับรัสเซีย และการทำสงครามกีดกันการค้าระหว่างอเมริกากับจีนในรูปของกำแพงภาษีศุลกากร
งานชิ้นแรกของทรัมป์หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในต้นปีหน้าก็คือ การยกเลิกระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีไบเดน ภายใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันเสรีระหว่างตลาดน้ำมันดิบภายในประเทศและตลาดน้ำมันโลก
ทรัมป์เชื่อว่าการยกเลิกข้อบังคับที่เกินพอดีและเกินความจำเป็นนั้น จะช่วยลดต้นทุนของราคาพลังงานในประเทศได้ และนำไปสู่การลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง และลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในที่สุด
จึงจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ทุกวันได้อย่างตรงจุด และเร็วกว่าวิธีการลดดอกเบี้ยเชิงนโยบายของธนาคารกลาง
การแก้ปัญหาผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายนับล้านคน ด้วยการบังคับเนรเทศออกนอกประเทศนั้น จะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากอีกเรื่องหนึ่งของทรัมป์ 2.0 เพราะจะเกิดการต่อต้านรุนแรงจากผู้คนในรัฐต่างๆ ที่ผู้ว่าการรัฐมาจากพรรคเดโมแครตอย่างแน่นอน
ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า ทรัมป์จะใช้วิธีที่ละมุนละม่อมมากกว่าวิธีการบังคับหักหาญน้ำใจกัน อาทิ การให้แรงจูงใจเพื่อให้คนที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายมีทางเลือกในการตัดสินใจย้ายออกจากประเทศไปเองโดยสมัครใจ
นอกจากนี้แล้ว ผลกระทบจากนโยบายนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ผลที่จะทำให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้นั่นเอง ซึ่งก็จะเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมาได้
ดังนั้น จึงเชื่อว่าคณะทำงานของทรัมป์ (เช่น นายอีลอน มัสก์) ต้องพยายามคิดหาทางปรับเพิ่มประสิทธิผลของแรงงานด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ พร้อมกับราคาที่ถูกลงเพราะมีการผลิตในขนาดการผลิตที่มีจำนวนมากด้วย
การเพิ่มขึ้นของประสิทธิผลแรงงานด้วยวิธีนี้ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา ท้ายที่สุดแล้วการแก้ปัญหาผู้อพยพที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายด้วยวิธีนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกินตัวของภาครัฐในเรื่องเกี่ยวกับภาระสวัสดิการสังคมที่เคยแบกไว้ได้ด้วย
เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของทรัมป์ที่มีพื้นฐานมาจากนักธุรกิจก็คือ การตัดเงินช่วยเหลือจากสหรัฐที่ส่งไปให้กับการทำสงครามตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะสงครามยูเครนกับรัสเซีย
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นทรัมป์ 2.0 เร่งหยุดให้การสนับสนุนสงครามในยูเครนในไม่ช้า เพื่อที่จะได้ประหยัดงบประมาณก้อนโตและช่วยลดภาระหนี้สาธารณะบางส่วนของสหรัฐเองด้วย
ในส่วนความขัดแย้งในจุดพื้นที่อื่นๆ ของโลกนั้น ทรัมป์น่าจะใช้ทักษะการเจรจาต่อรองที่เป็นจุดแข็งของเขาที่คู่ต่อสู้เกรงขาม
เพราะมักจะเดาทางของทรัมป์ไม่ออก (unpredictable) ให้กลายเป็นพลังหลักในการหยุดยั้งสงคราม (deterrence capability) ได้มากกว่าที่การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังทหารเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา
ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจึงน่าจะมีความเสี่ยงที่ลดลงจากผลกระทบเชิงลบของภาวะสงครามไปด้วย
ประเด็นสุดท้ายก็คือ การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งน่าจะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับทั้งสองฝ่ายแน่นอน จึงเชื่อได้ว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้วิธีถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อเจรจาหาทางออกที่ดีร่วมกัน โดยไม่ทำให้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้อะไรไปทั้งหมดโดยไม่เสียอะไรเลย
สิ่งสำคัญที่ทรัมป์ต้องการจะได้จากการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าก็คือ ทำให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในประเทศ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อเพราะราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นด้วยนั่นเอง ซึ่งหมายความว่า ทรัมป์เองก็จะไม่สามารถใช้วิธีตั้งกำแพงภาษีนำเข้าอย่างไม่มีขีดจำกัด
นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องอื่นที่มีความสำคัญรองลงมา เช่น การออกกฎหมายใหม่เพื่อสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความปลอดภัย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของนักลงทุน เป็นต้น
ในส่วนของผลกระทบต่อไทยก็อาจมีได้ เช่น หากหนี้สาธารณะของสหรัฐมีมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ก็อาจจะไร้เสถียรภาพ ซึ่งจะกระทบต่อค่าเงินบาทและระดับความเสี่ยงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่อยู่ในรูปของเงินดอลลาร์ เราจึงต้องกระจายความเสี่ยงโดยไปถือสินทรัพย์อื่นเพิ่มขึ้นแทนด้วย
หรือหากสหรัฐพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมากจนทำให้ดอกเบี้ยปรับลดลงมาก เราก็ต้องระวังไม่ให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มากเกินไป
นอกจากนี้ ไทยก็อาจถูกกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เช่นกัน เราจึงต้องดำเนินนโยบายด้านการค้าและเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน.