5 อันดับบลจ.มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด ในไตรมาส 1/65

5 อันดับบลจ.มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด ในไตรมาส 1/65

"มอร์นิ่งสตาร์" เผยไตรมาส 1/65 ทิศทางดบ.กดดัน "กองทุนตราสารหนี้" นักลงทุนขายต่อเนื่อง ทำให้มีเงินไหลออกมากสุด 8.7 หมื่นล้าน และ บลจ.ไทยพาณิชย์ เงินไหลออกมากสุด 1.7 หมื่นล้าน มาจากกองทุนตราสารหนี้ถึง 1.1 หมื่นล้าน ด้าน บลจ.เกียรตินาคินภัทร เงินไหลเข้ามากสุด  7.34 พันล้าน

ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ (เดือนม.ค.-มี.ค. 2565)  มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.1 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่หดตัวลง 4.2% จากสิ้นปี 2564

โดยเป็นการหดตัวลงในทุกประเภทกองทุนยกเว้นกองทุนตราสารตลาดเงิน ในช่วงไตรมาสแรกมีเงินไหลออกสุทธิรวม 8.7 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้ 

5 อันดับบลจ.มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด ในไตรมาส 1/65

 

จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงได้ส่งผลลบต่อกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากผู้ลงทุนมีการขายกองทุนต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงไปอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 1.5 ล้านล้านบาท ลดลง 5.7% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นประเภทกองทุนที่มีเงินไหลออกสูงสุดในรอบไตรมาสนี้ด้วยมูล่า 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลออกจากทั้งกองทุนตราสารหนี้ในประเทศและกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 

กองทุนรวมตราสารทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.5 ล้านล้านบาท ลดลง 4.8% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วราว 4.7% ในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.8 พันล้านบาท โดยยังกระจุกตัวไปที่กองทุนหุ้นต่างประเทศ ในขณะที่ กองทุนหุ้นไทยมีแรงขายจากกองทุน LTF  


กองทุน Money Market เป็นอีกประเภทกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิด้วยมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 2.3% จากสิ้นปี2564 ไปอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท 

กองทุนกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.3% จากสิ้นปี 2564 โดยเป็นผลจากการขายทำกำไรทั้งกองทุนทองคำและน้ำมันรวม 4.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 2 อันดับแรกในรอบไตรมาสแรกที่ 27.5% และ 6.4% ตามลำดับ

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) รายงาน 5 อันดับ "บลจ.มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด" ในไตรมาส 1/65  (ข้อมูล ไม่รวม term fund)  ณ 31 มี.ค. 2565   ดังนี้ 

 5 อันดับ บลจ.มีเงินไหลเข้ามากที่สุด  
1.    บลจ.เกียรตินาคินภัทร 7,343  ล้านบาท 
2.    บลจ.เอไอเอ  1,925 ล้านบาท 
3.    บลจ.แอสเซท พลัส   1,898 ล้านบาท 
4.    บลจ.กรุงไทย  638 ล้านบาท 
5.    บลจ.วี  581 ล้านบาท

 
5 อันดับ บลจ.มีเงินไหลออกมากที่สุด  
1.    บลจ.ไทยพาณิชย์  17,460 ล้านบาท 
2.    บลจ.บัวหลวง  9,910 ล้านบาท 
3.    บลจ.กสิกรไทย  8,752 ล้านบาท 
4.    บลจ.ธนชาต 7,481  ล้านบาท 
5.    บลจ.ทหารไทย 4,349  ล้านบาท 

บลจ.เกียรตินาคินภัทร มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในไตรมาสแรกมูลค่า 7.3 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโต 8.0% จากไตรมาสก่อนหน้า ไปอยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท โดยมีกองทุนเปิดใหม่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเช่น กองทุน KKP Vietnam Growth NFRI และ KKP NDQ100- Hedge รวมทั้งกองทุนที่มีอยู่เดิมคือ KKP Fixed Income Plus ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 พันล้านบาท รวมทั้ง 3 กองทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 7.8 พันล้านบาท

บลจ.ไทยพาณิชย์ มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุด 1.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินจากกองทุนตราสารหนี้เป็นส่วนใหญ่รวม 1.1 หมื่นล้านบาท นำโดยกองทุน SCB Savings Fixed Income, SCB Global Fixed Income A และ SCB Fixed Income Plus (Acc) ไหลออกมากที่สุด 3 กองทุน รวมมูลค่า 1.0 หมื่นล้านบาท

บลจ.บัวหลวง มีเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสแรกรวม 9.9 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุน LTF มูลค่ารวมราว 5.6 พันล้านบาท นำโดยกองทุน Bualuang Long - Term Equity มีเงินไหลออกสุทธิ 3.4 พันล้านบาท ตามมาด้วยกองทุน Bualuang Long - Term Equity 75/25 มูลค่า 1.8 พันล้านบาท รวมทั้งกองทุน Bualuang Fixed Income ที่มีเงินไหลออกสุทธิ 2.9 พันล้านบาท

บลจ.กสิกรไทย มีเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสแรกมูลค่า 8.8 พันล้านบาท โดยเป็นผลจากเม็ดเงินกองทุนตราสารหนี้เป็นหลัก เช่น กองทุน K Fixed Income-A และ K Fixed Income Plus-A ที่มีเงินไหลออกสุทธิรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท