TRUE – DTAC ในมือ กสทช. “เร่งปิดดีล” หรือ “เปิดเกมยื้อ”
ดีลใหญ่ในธุรกิจโทรคมนาคมกำลังเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญในมือของฝ่ายกำกับคือ สำนักงาน กสทช. ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ควบรวมบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
โฟกัสไปที่แนวทางในการกำกับดูแลในเคสนี้จะผ่านให้ควบรวมกิจการไปได้แบบ “ผ่านฉลุย “หรือจะสะดุด “แบบมีเงื่อนไข “ หรือ "ล้มดีลทั้งกระดาน" ซึ่งการแถลงการนัดแรกวันนี้ (27 เม.ย.) คาดการณ์ว่า กสทช.ยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน และมีโอกาสที่จะกินระยะเวลานานกว่าจะมีผลสรุปในส่วนฝ่ายกำกับ
เนื่องจาก กสทช. ชุดที่ 2 ทั้ง 5 คน พึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2565 การดำเนินการตัดสินทันทีว่า ดีลนี้ไปในทิศทางไหนจึงคาดว่าไม่ง่าย จากที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงอำนาจกำกับดูแลของ กสทช.ครอบคลุมบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตแต่ดีลดังกล่าวได้ "ดักทาง" ด้วยการทำธุรกิจผ่านผู้ถือหุ้นรายใหญ่แทนซึ่งคือ กลุ่ม ซีพี และ กลุ่มเทเลนอร์ แทน
หากแรงกดดันจากผู้ที่เกี่ยวข้องทางนักวิชาการ ต่างเห็นพ้องว่าอยู่ในบทบาท และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ หรือมาตรา 157 ในเรื่องของละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง ตามพันธกิจในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส
นับรวมไปถึงรายใหญ่ในอุตสาหกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ออกโรงคัดค้านตัวโก่ง ยกอำนาจของ กสทช.ที่พึ่งกระทำได้ และสภาพการแข่งขันจากดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 ราย เมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 กระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว
ดังนั้น หากให้ควบธุรกิจจะยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์
อย่างไรก็ตามขั้นตอนการควบรวมเพื่อตั้ง บริษัทใหม่ TRUE-DTAC ภายใต้ชื่อ “ซิทริน โกล บอล ” ยังดำเนินภายใต้การขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ด้วยการเริ่มเสนอซื้อหลักทรัพย์แบบสมัครใจ (VTO) ปลายเดือนมิ.ย. 2565 – ต้นเดือนส.ค. 2565 และการรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน หรือ Vote No และไม่ยอมขาย VTO ในช่วงเดือนส.ค. 2565 โดยระหว่างนี้ทางบริษัทจะขอการยินยอมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
จากไทม์ไลน์ดังกล่าวเห็นได้ว่ากระบวนการมีการเดินหน้าจนกว่าจะมีการประกาศที่เกี่ยวข้องมาสั่งห้ามหรือยุติ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินการแต่งตั้ง กสทช. ชุดใหม่เพื่อพิจารณาดีลการควบรวมกิจการ หากผิดคาดของตลาดและจะสร้างแรงกดดันระยะสั้นต่อ TRUE และ DTAC
เนื่องจากตลาดจะกังวลถึงความเสี่ยงที่ กสทช.ชุดใหม่ อาจจะมีความเข้มข้นมากขึ้นในการพิจารณาและมีโอกาสที่ไทม์ไลน์การควบรวมอาจชะลอออกไปราว 1-2 เดือนแต่มองเป็นเพียง ปัจจัยรบกวน (Noise) โอกาสยังสูงที่ดีลการควบรวมกิจการจะผ่าน
ทั้งนี้คงคำแนะนำที่ DTAC ซื้อที่ 59.00 บาทต่อหุ้น และ TRUE ที่ 6.40 บาทต่อหุ้น อิงโอกาสที่ดีลจะเกิดขึ้น 70% ซึ่งเชื่อว่าโอกาสยังสูงที่ดีลจะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่ Merge Co. จะสามารถสร้าง Synergy ระดับ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีผ่านการลดต้นทุนเป็นหลัก
ขณะที่ “พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย คาดว่าการควบรวมบริษัทจะทำให้บริษัทใหม่มีกำไรส่วนเพิ่มทางบัญชีราว 5,000 ล้านบาท และหลังจากการควบรวมแล้วเสร็จในไตรมาส 3/ 2565 จะทำให้ในไตรมาส 4/2565 บริษัทใหม่จะมีกำไรทันทีที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ทันที
ทั้งนี้เห็นว่าการควบรวมจะทำให้โครงสร้างการตลาดเปลี่ยนไปทิศทางดี ตลาดเติบโตเร็วขึ้นจะทำให้รายได้โตเร็วขึ้นตาม ค่าใช้จ่ายและงบการลงทุนก็จะลดลงเพราะไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อน และจะทำให้กำไรในบริษัทใหม่เพิ่มขึ้น กระแสเงินสดดีขึ้น รวมทั้ง ROE (Return on Equity), ROC (Return on Capital) เพิ่มขึ้น