สหรัฐผนึกอาเซียน ฟื้นเศรษฐกิจ-พัฒนายั่งยืน
“ประยุทธ์”ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯสมัยพิเศษ 12 - 13 พ.ค.ดึงลงทุนพลังงานสะอาด ชูประเด็น BCG - EV พร้อมแสดงความพร้อมเป็นเจ้าภาพเอเปค ด้านหอการค้าไทยชี้ถือเป็นโอกาสร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจอาเซียนให้เติบโตยั่งยืน
ท่ามกลางวิกฤติซ้ำวิกฤติที่ทุกประเทศเผชิญอยู่ทั้งโรคระบาดโควิด-19 และผลกระทบจากสงคราม ความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆน่าจะเป็นทางออก หรือ บรรเทาผลจากวิกฤติต่างๆได้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน สหรัฐ ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. 2565 ตามคำเชิญของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 (ASEAN-U.S. Special Summit) ร่วมกับผู้นำอาเซียนชาติต่างๆ
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การหารือกับผู้นำและผู้แทนระดับสูงของสหรัฐ เพื่อผลักดันความร่วมมือการขับเคลื่อนการฟื้นฟู และการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค
รวมทั้งเป็นโอกาสให้พบกับภาคเอกชนสหรัฐเพื่อย้ำความพร้อมของไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งกับสหรัฐย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนสหรัฐ
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ สมัยพิเศษ ซึ่งมีประเด็นสำคัญของร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ นั้น เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างอาเซียน – สหรัฐ ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน ได้แก่ การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการฟื้นตัวร่วมกันมีการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เช่น การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสหรัฐได้แก่ กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด 19 คลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระบบประสานงานภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอาเซียน
รวมถึงการส่งเสริมให้มีการทำวิจัยร่วม การสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืนสำหรับความมั่นคงด้านสาธารณสุข การลงทุน และร่วมทุนในอุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรม การร่วมผลิตวัคซีน เพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมถึงผ่านข้อริเริ่มอาเซียน – สหรัฐ ด้านสาธารณสุขเพื่ออนาคต
นอกจากนี้ ยังรวมถึง การสนับสนุนทางการเงินในระดับนานาชาติที่เพิ่มขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อโรคระบาด และการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะบริการสาธารณสุขมูลฐาน และกำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งของความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยคำนึงถึงวาระและเป้าหมายความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ค.ศ. 2024
ขณะเดียวกันยังมีประเด็นด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งกว่าเดิม ได้แก่ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้มีความเท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน การเติบโตที่ครอบคลุม และการพัฒนาที่ยั่งยืน, การส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน, การตอบสนองต่อความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสูง โปร่งใส ยั่งยืน และมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การส่งเสริมการค้าการลงทุน และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่มั่นคงและฟื้นตัวได้เร็ว และความเชื่อมโยงไร้รอยต่อในภูมิภาค
การกระชับความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงด้านคมนาคม เพื่อสนับสนุนการนำเทคนิคที่เป็นเลิศมาใช้ เช่น การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงประเด็นเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล, การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับประชาชน, การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค, การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม, การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย การเดินทางของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ ได้ทราบถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อการเป็น Regional Hub ทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงโปรโมท โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เพิ่มเติม
โดยเป็นการเดินหน้าเชิงรุก ในการหาตลาดใหม่เพิ่มเติม เพื่อส่งออกสินค้าและหานักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมเครื่องจักรทางเศรษฐกิจทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของประเทศไทย และย้ำความพร้อมของไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 ของไทย
เท่าที่เอกชนทราบว่า มีการเตรียมเนื้อหาการประชุมคือ การส่งเสริมให้สหรัฐ มีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค next normal เน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โมเดล รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาค
“ถือเป็นโอกาสหารือกับผู้นำและผู้แทนระดับสูงของสหรัฐ ในการผลักดันความร่วมมือการขับเคลื่อนการฟื้นฟู และการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค”
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการเดินทางเยือนสหรัฐครั้งนี้ตามคำเชิญของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐซึ่ง สหรัฐเป็นฝ่ายเสนอจัดขึ้น โดยเสนอทาบทามมาตั้งแต่ปลายปี 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ในโอกาสนี้จะได้มีการหารือกับผู้แทนระดับสูงของสหรัฐในด้านต่างๆเพื่อผลักดันความร่วมมือการขับเคลื่อนการฟื้นฟู และการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค