กทท.เร่งประมูลแหลมฉบัง งานสาธารณูปโภค 7 พันล้าน
กทท.เตรียมประกวดราคางานโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อีก 7 พันล้านบาท ภายในเดือน ก.ค.นี้ คาดส่งมอบพื้นที่ให้ “จีพีซี” ในปี 2568
การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของภาครัฐอยู่ในขั้นตอนเตรียมประกวดราคางานโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท ภายในเดือน ก.ค.2565 ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งมีกลุ่มกัลฟ์ กลุ่ม ปตท.ร่วมถือหุ้น
เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยระบุว่า ขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำร่างเอกสารประกาศประกวดราคางานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 2) งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค วงเงินราว 7,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการจัดทำร่างเอกสารแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เปิดประกวดราคาภายในเดือน ก.ค.2565
อย่างไรก็ดีปัจจุบัน กทท.ได้เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่รัฐต้องลงทุนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล โดยมีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท นทลิน จำกัด และบริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ปจำกัด (ประเทศจีน) เป็นผู้ดำเนินโครงการในวงเงิน 21,320 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน กทท.ยังเหลืองานที่ต้องดำเนินการ คือ ส่วนที่ 2 ที่จะเริ่มขั้นตอนประกวดราคาในเร็วๆ นี้ และงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ รวมไปถึงงานส่วนที่ 4 งานจัดหา ประกอบ และติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยคาดว่าทั้งหมดจะดำเนินการประกาศประกวดราคาแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเร่งรัดก่อสร้างเตรียมความพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC
“ตอนนี้การท่าเรือฯ อยู่ในช่วงของการเตรียมงานฐานรากให้กับเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน ซึ่งเราจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ และส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาเริ่มบริหารตามแผนในปี 2568"
ขณะเดียวกันปัจจุบันเอกชนก็ดำเนินงานคู่ขนานในส่วนของการวางแผนธุรกิจ และวิเคราะห์ความเหมาะสมของการบริหารท่าเรือ ซึ่งส่วนนี้ก็จะรวมไปถึงการจัดทำแผนเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับแลนด์บริดจ์ตามนโยบายรัฐบาลด้วย
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายในงานวันคล้ายวันสถาปนาการท่าเรือแห่งประเทศไทย ครบรอบ 71 ปี โดยระบุว่า ได้มอบนโยบายให้ กทท.รวม 3 เรื่องเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของขนส่งทางน้ำ และยกระดับท่าเรือให้เป็นประตูประเทศ ประกอบไปด้วย
1.การรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงาน และพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือ
2.เตรียมพร้อมรองรับการเปิดพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2568 ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ
3.เร่งศึกษาแนวทางเชื่อมโลจิสติกส์อ่าวไทย-อันดามัน รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ทางน้ำ
สำหรับแนวทางศึกษาต่อยอดธุรกิจใหม่นี้ ได้มอบหมายให้ กทท.ศึกษาความเหมาะสมทั้งในรูปแบบของการลงทุนเองและการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หรืออำนวยความสะดวกในการลงทุนแก่เอกชน โดยยึดถือประโยชน์แก่รัฐเป็นที่ตั้ง ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ทางน้ำที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุน อาทิ การซ่อมบำรุงเรือแบบครบวงจร การบริการน้ำมันและอาหาร เป็นต้น
“การต่อยอดธุรกิจหากว่ามีข้อติดขัดทางกฎหมาย ตนมองว่ากฎหมายของการท่าเรือก็ใช้มาตั้งแต่ปี 2494 ก็ถึงเวลาต้องปรับให้ทันสมัย หากว่าการศึกษาธุรกิจมีประโยชน์แต่ขัดกับกฎหมายการท่าเรือก็คงต้องมาทบทวนกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันด้วย”
สำหรับการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ในพื้นที่อีอีซีที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2568 กับโครงการแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนและมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2572 เป็นอีกโจทย์สำคัญ ซึ่ง กทท.จะต้องเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาศึกษาและต่อยอดเส้นทางเดินเรือเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เป้าหมายลดระยะเวลาการเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบังโดยไม่ต้องไปอ้อมมะละกา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์
“โครงการท่าเรือในอีอีซีจะเปิดให้บริการในปี 2568 สิ่งสำคัญคือการท่าเรือฯ ต้องเตรียมความพร้อมในการบริหารโลจิสติกส์ทางน้ำนี้ให้มีประสิทธิภาพ และต้องต่อยอดการเชื่อมโยงเข้ากับท่าเรือในแลนด์บริดจ์ ถือเป็นเรื่องท้าทายที่การท่าเรือฯ ต้องทำ จะบริหารอย่างไรให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย นำเอาเทคโนโลยีมาใช้”
ทั้งนี้ ปัจจุบันเหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปี ในการเตรียมความพร้อมเปิดท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเพิ่มความสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจาก 11 ล้านที.อี.ยู เป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู และเมื่อโครงการแลนด์บริดจ์แล้วเสร็จในปี 2572 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเรือขนส่งสินค้าใช้บริการอีกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นลำต่อปี จากนั้นจะเติบโตมากขึ้นถึง 8-9 หมื่นลำต่อปี ดังนั้น กทท.ต้องใช้เวลาในช่วงนี้เริ่มศึกษาวิเคราะห์ว่าจะบริหารจัดการท่าเรืออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
ในส่วนของความคืบหน้าโครงการท่าเรือแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม พิจารณาแล้วว่าท่าเรือที่เหมาะสมที่สุดฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือ พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้านที.อี.ยู รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้านที.อี.ยู เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน