เปิดสินค้า 4 กลุ่มจาก "นิวซีแลนด์" มัดใจผู้บริโภคไทย
"นิวซีแลนด์" เดินหน้าสานสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย ผ่านโครงการ “นิวซีแลนด์สร้างสรรค์ด้วยใจ” เน้นการขยายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มให้แก่คู่ค้า ตอบโจทย์เทรนด์อาหารปลอดภัยและการบริโภคอย่างยั่งยืน
นายเดเมียน โอคอนเนอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และส่งออกประเทศ นิวซีแลนด์ และ นายโจนาธาน คิงส์ ว่าที่เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานเปิดงาน “นิวซีแลนด์สร้างสรรค์ด้วยใจ” (New Zealand Made With Care) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการเปิดประตูสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากนิวซีแลนด์สู่นานาชาติ ณ ห้องอาหารศิลาดล โรงแรม สุโขทัย กรุงเทพ
งานในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ฯพณฯ นายเดเมียน โอคอนเนอร์ ได้มาเยือนหลัง ประเทศไทย มีการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 เพื่อตอกย้ำความสำคัญในฐานะคู่ค้ารายใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน
ในปี 2564 นิวซีแลนด์ มีมูลค่าการส่งออกสินค้ามายังไทย รวมกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (28,670 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 19% จาก 1.07 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (24,000 ล้านบาท) จากปี 2563
โดย กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีมูลค่ากว่า 723 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (15,800 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 692 ล้านดอลลาร์ (15,160 ล้านบาท)
นายเดเมียน โอคอนเนอร์
กลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมในไทยมาอย่างยาวนาน คือ สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมี่ยม อาทิ ผลิตภัณฑ์จากนม ผลไม้ เนื้อสัตว์ และ อาหารทะเล โดยมีสัดส่วนดังนี้
- สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งมายังไทย คือ กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม มีมูลค่ารวมถึง 603 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (13,200 ล้านบาท) คิดเป็นยอดกว่า 73.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
- กลุ่มผลไม้ ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออก 90 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (1,972 ล้านบาท) ผลไม้ยอดนิยมในกลุ่มลูกค้าชาวไทย คือ แอปเปิ้ล กีวี่ อะโวคาโด ลูกพลับ เชอร์รี่ สตรอว์เบอรี่ และ บลูเบอร์รี่
- กลุ่มสินค้าที่เติบโตอย่างโดดเด่น คือ กลุ่มเนื้อสัตว์ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกรวมในปี 2564 ถึง 40 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (890 ล้านบาท) เติบโตมากขึ้นถึง 22%
- กลุ่มสินค้าน้องใหม่ที่กำลังเติบโตในประเทศไทยขณะนี้ คือ กลุ่มอาหารบรรจุพร้อมขาย (branded packaged food) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยในเรื่องสุขภาพและความยั่งยืน อาทิเช่น น้ำมันอโวคาโด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ น้ำผึ้ง ซีเรียล รวมถึงขนมแบรนด์ยอดนิยมต่างๆจากนิวซีแลนด์ อาทิ เช่น ช๊อคโกแลต และคุ้กกี้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้ ยอดส่งออก ยังสามารถขยายตัวได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ท่ามกลางความท้าทายเป็นอย่างมากในด้านการบริหารระบบซัพพลายเชน และทาง นิวซีแลนด์ จะยังคงให้ความสำคัญกับการเดินทางมาพบปะกับพันธมิตรต่างๆอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาการค้าให้เกิดการเติบโตร่วมกันในอนาคต
ฯพณฯ เดเมียน โอคอนเนอร์ และ โจนาธาน คิงส์ ร่วมเปิดงาน
ในการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ ฯพณฯ นายเดเมียน โอคอนเนอร์ และว่าที่เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย นายโจนาธาน คิงส์ ได้ร่วมเป็นประธานเปิดงาน New Zealand Made With Care (นิวซีแลนด์สร้างสรรค์ด้วยใจ) ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้มีส่วนสนับสนุนส่งเสริมสินค้านิวซีแลนด์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย สื่อท้องถิ่น และลูกค้ากิตติมศักดิ์ อาทิ คุณสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ คุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ดร. สมบัติ ธีระตระกูลชัย คุณโชค บูลกุล คุณพลภัทร สุวรรณศร คุณดิลิป ราชากาเรีย คุณพิศิษฐ์ ภูสนาคม ฯลฯ
โครงการ “นิวซีแลนด์สร้างสรรค์ด้วยใจ” เป็นแคมเปญระดับโลกที่มีการทำการตลาดบูรณาการผ่านทุกช่องทางไปยังคู่ค้าหลักในอุตสาหกรรมและผู้บริโภค และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และมีการทำกิจกรรมการตลาดต่างๆร่วมกับคู่ค้าสำคัญ อาทิ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
หัวใจของโครงการนี้ คือการสะท้อนความมุ่งมั่นของชาวนิวซีแลนด์ในการสรรหาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมี่ยมที่คัดสรรมาอย่างดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคชาวไทย ทั้งผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ ไวน์ อาหารเพื่อสุขภาพ และส่วนผสมต่างๆ
นิวซีแลนด์และตัวแทนคู่ค้าในไทย
นอกเหนือจากคุณภาพและความอร่อย เนื้อหาสำคัญของแคมเปญ ยังเน้นใน 3 หัวใจสำคัญ คือ เรื่องความปลอดภัย เรื่องโภชนาการ และ เรื่องจริยธรรม
แนวคิดของแคมเปญนี้ มาจากผลจากงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย ให้ความสำคัญกับผู้ผลิตที่ดำเนินการด้วยปรัชญา “Kaitiakitanga” ซึ่งเป็นคำในภาษาเมารีที่แปลว่า “ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและผู้คน” ปรัชญานี้จึงถูกนำใช้เป็นรากฐานสำคัญในทุกๆส่วนของแคมเปญ
โอกาสทางการตลาดในประเทศไทยของกลุ่มสินค้าที่เน้นในเรื่องเหล่านี้มีสูงมาก เพราะฐานของกลุ่มลูกค้าหลักในไทยเป็นกลุ่มวัยกลางคน อายุระหว่าง 30 – 64 ปี และมีรายรับที่ค่อนข้างสูง (ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์)
คนกลุ่มนี้เป็นลูกค้าหลักของสินค้าอิมพอร์ตที่เน้นคุณภาพ และคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการบริโภคอย่างใส่ใจ (Conscious Consumerism) พร้อมยอมจ่ายให้กับกลุ่มสินค้าที่ดีต่อโลก ดีต่อสังคม ซึ่งเทรนด์การเติบโตของผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจในไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เช่นกัน ซึ่ง
นิวซีแลนด์มีความเชื่อมั่นว่า คู่ค้าชาวไทยจะเป็นกลุ่มหลักที่ได้ผลบวกทางธุรกิจจากสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีเรื่องราวดีๆจากนิวซีแลนด์อย่างแน่นอน
Food Art Exhibition ในงาน "นิวซีแลนด์สร้างสรรค์ด้วยใจ"
ในงานเลี้ยงครั้งนี้ สถานทูตนิวซีแลนด์ ได้เรียนเชิญ เชฟวุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร เซเลบริตี้เชฟผู้มีชื่อเสียงด้านการรังสรรค์ศิลปะแห่งอาหารด้วยความใส่ใจ นำนานาวัตถุดิบชั้นเลิศจากนิวซีแลนด์มาปรุงและสร้างสรรค์ “Food Art Exhibition” การแสดงศิลปะจากอาหารสุดพิเศษจากส่วนผสมและวัตถุดิบจากภูมิภาคต่างๆของนิวซีแลนด์รวมทั้งสิ้น 14 เมนู ใช้วัตถุดิบและส่วนผสมหลัก 17 ชนิด ที่มาจากพื้นดินและท้องทะเลอันสมบูรณ์
นอกเหนือจากนี้ สำนักงานพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ยังเตรียมแผนกิจกรรมการตลาดต่างๆเพื่อสนับสนุนคู่ค้าและลูกค้าชาวไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ “New Zealand Made with Care x LINE MAN” กิจกรรมไฮไลท์ที่จะจัดขึ้นในปลายเดือนมิถุนายนร่วมกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่ LINE MAN เพื่อส่งตรงผลิตภัณฑ์ชั้นดีของนิวซีแลนด์ตรงสู่ประตูบ้านของลูกค้าทุกคน
สำนักงานพาณิชย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับคู่ค้ารายสำคัญ และสนับสนุนผู้ส่งออกในนิวซีแลนด์ที่ต้องการจัดหาผลิตภัณฑ์นิวซีแลนด์ระดับพรีเมียมที่สดใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวไทย ให้มีความมั่นใจในการทำธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน