รัฐแท็กทีมดันมาตรการอีวี เร่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
ภาครัฐเร่งขับเคลื่อนนโยบายอัดมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยปรับแนวคิดตั้งแต่การผลิต รีไซเคิล และพลังงานสะอาดเตรียมความพร้อมสร้างกรีนอีโคซิสเต็มสำหรับอุตสาหกรรมอีวี ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 27.2 ล้านตัน ภายในปี 2030
พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวในงานสัมมนา Automotive Summit 2022 ภายใต้แนวคิด “ความเป็นกลางทางคาร์บอน : จุดเปลี่ยนของยานยนต์แห่งอนาคต" จัดโดยสถาบันยานยนต์ และ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด โดยระบุว่า เพื่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ตามที่ไทยได้ประกาศไว้บนเวที COP26 จึงจำเป็นที่หน่วยงานทุกภาคส่วนและทุกระดับ ตั้งแต่องค์กรถึงระดับประเทศต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอน
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมและขนส่งถือเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยคาร์บอนกว่า 145.8 ล้านตัน คิดเป็น 59% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ ในปี 2021 การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อุษิณ วิโรจน์เตชะ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2017 แต่ขณะนั้นตลาดในประเทศยังไม่มีการตอบที่ดีนัก ขณะที่ในต่างประเทศเริ่มให้การสนับสนุนการใช้อีวีมากขึ้น อาทิ การอุดหนุนเงิน การประกาศนโยบายปลอดรถเครื่องยนต์สันดาป ทำให้ปริมาณการใช้อีวีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งแต่ละประเทศมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบในการจูงใจใช้อีวีต่างกัน เช่น การที่รัฐมีการประกาศนโยบายที่ชัดเจน มีการผลิตด้วยวัตถุดิบในประเทศ
“ในปัจจุบันรัฐได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมอีวีอย่างจริงจึง โดยนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมอีวี เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้อีวีในประเทศเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ ได้มีการวางโรดแมป การพัฒนาอุตสาหกรรมอีวี 30@30 ตั้งเป้าหมายผลิตอีวี 30% ของรถนยนต์ทั้งหมด ในปี 2030 เนื่องจากขณะนี้ประเทศคู่แข่งเริ่มดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศแล้ว โดยการจูงใจด้วยแนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้รถที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับแพคเกจอีวีในระยะแรกจะเป็นการลดข้อได้เปรียบของรถเครื่องยนต์สันดาป ด้วยการใช้เงินอุดหนุนคันละ 70,000-150,000 บาท แม้จะเป็นการนำเข้าในระยะแรก แต่มีการตั้งเงื่อนไขให้ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตชดเชยในประเทศในอัตราส่วนที่เท่ากัน ทั้งยังส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบในประเทศ
นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการลดปล่อยคาร์บอนสำหรับรถเครื่องยนต์สันดาป โดยการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีคาร์บอนรถยนต์นั่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นการการปล่อยคาร์บอนที่ลดลงราว 10.63% เมื่อเทียบกับปี 2018
ชาตรี ลิ้มผ่องใส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุน 2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอมีบทบาทสำคัญในการออกมาตรการส่งเสริมให้เกิดการผลิตอีวีในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการที่ครอบคลุมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท รวมเรือไฟฟ้า รถสามล้อ จักรยานไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษียกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 11 ปี หากมีการลงทุนตามเงื่อนไข รวมทั้งยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจัก วัตถุดิบและสินค้าส่งออก รวมถึงสิทธิประโยชน?อื่นๆ ได้แก่ วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน กรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน
วิศิษย์ศักดิ์ กฤษณพันธ์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกลไกจัดการรถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมระบบจัดการซากรถยนต์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้อีวี รวมไปถึงการจัดการอีวีที่เลิกใช้แล้ว ซึ่งมีต้นแบบจากการจัดการซากรถเก่าของประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ มีขั้นตอนดังนี้ เมื่อผู้ใช้รถยนต์เลิกใช้งานแล้วจะส่งไปให้อู่ซ่อมรถหรือศูนย์บริการซ่อมประเมินราคาทำสัญญาซื้อขายซากรถเก่า จากนั้นอู่จะทำการแยกส่วนประกอบรถยนต์ออกเป็น ชิ้นส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น เครื่องยนต์ เหล็ก พลาสติก แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่เป็นอะไหล่มือสอง และส่วนที่เป็นวัตถุอันตราย เช่น แอร์แบ็ก สารทำความเย็น โดยส่วนประกอบเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานรัไซเคิลหรือโรงงานกำจัดเศษซากที่ผ่านมาตรฐานการรับรองโรงงานจัดการกากอุตสาหกรรม
นุจรีย์ เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดอีวี ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เพียงพอ ด้วยการปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ที่อัตรา 2.63 บาทต่อ ภายใต้เงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority และสิทธิประโยชน์ภาษีผ่านบีโอไอ
สำหรับการชาร์จไฟบ้านให้มีการแยกมิเตอร์ เพื่อใช้อัตรา TOU Off-Peak ปรับลดระยะเวลาการขออนุญาตติดตั้ง รวมทั้งเสนอการทำ One Stop Service สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้านอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจัดทำแพลตฟอร์ม EV Data เพื่อการบูรณาการข้อมูลำหรับการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอย่างเพียงพอ