สนธิรัตน์ แนะรัฐยกน้ำมันเป็นวาระแห่งชาติ ชูทีมเศรษฐกิจแก้ไขดึงเชื่อมั่น
“สนธิรัตน์” แนะรัฐยกเรื่อง “น้ำมันเป็นวาระแห่งชาติ” ดึงทีมเศรษฐกิจแก้ปัญหาระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งทีมสมช. ดูแล เพราะกระทบวงกว้าง ประชาชนจะสับสนขาดความเชื่อมั่น พร้อมสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงวิกฤตพลังงาน รวมถึงการเก็บค่าการกลั่นต้องรอบคอบกว่านี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เรื่องของพลังงานถือประเด็นของการถกเถียงมาโดยตลอด เพราะราคาพลังงานวันนี้เป็นเรื่องที่หัวใจสำคัญ คือน้ำมันรวมไปถึงราคาก๊าซธรรมชาติ โดยขณะนี้ราคาน้ำมันในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่า ทิศทางของค่าการกลั่นของโรงกลั่นที่รับบาลต้องการเก็บกำไรค่าการกลั่นมาเข้ากองทุนน้ำมัน ถือเป็นประเด็นหลักมาตลอด 1 สัปดาห์ และยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเป็นยังไง
ทั้งนี้ พรรคสร้างอนาคตไทย เป็นห่วงว่าจะใช้กฎหมายอะไรในการบังคับ ซึ่งพรรคฯ ได้ติดตามปัญหาที่รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันมาโดยตลอด จึงขอเสนอให้นำเรื่องของราคาน้ำมันเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศกระทบต่อต้นทุนของการดำเนินชีวิตของประชาชน กระทบต่อสภาวะต่าง ๆ ของทุกภาคส่วนที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังไม่เห็นแนวโน้มวิกฤตนี้จะถูก แก้ไขโดยเร็ว ซึ่งรัฐบาลยังแก้ปัญหาเป็นส่วน ๆ ยังไม่มีการแก้ไขในเชิงบูรณาการ และไม่สามารถสร้างความชื่อมั่นให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม ระเบิดเวลาเรื่องของราคาน้ำมันและพลังงานถือเป็นระเบิดเวลาที่ใหญ่มาก นำไปสู่ค่าครองชีพที่สูงอย่างรวดเร็ว จะเห็นว่ามีข่าวเรื่องของการปรับราคาสินค้ารายสัปดาห์ที่เริ่มพาเหรดขึ้นราคา เพราะต้นทุนการขนส่งถือเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้และมีแนวโน้มกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ ที่ผู้ประกอบการเริ่มปรับลดเที่ยวเดินรถ และอาจจะลามไปถึงการกระทบในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศที่มีผลกระทบต่อต้นทุนพลังงาน และจะเกิดวิกฤตเรื่องอื่น ๆ ตามมา
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หลายคนคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ระดีบ 110-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และตั้งแต่เดือนธ.ค. 2564 ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันดิบอยู่ 93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายหลังเกิดสงครามราคา น้ำมันเริ่มแกว่งตัวทะลุไปถึง 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และลงมาปัจจุบันที่ระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังมีความแกว่งตัวของราคาอยู่ ซึ่งจากการติดตามข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สถาบันพลังงานระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์สถาบันต่าง ๆ หรือนักวิเคราะห์บริษัทสถานการณ์น้ำมันระดับโลก มีความเป็นห่วงว่าหากวิกฤติกว่านี้จะสวิงราคาไประดับ 150-180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“เราได้เผชิญภาวะปัจจุบันที่ 110-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตั้งแต่เดือนก.พ.-มิ.ย. 2565 ราว 4 เดือน ภาระรัฐบาลมีมากในการอุ้มราคาพลังงาน รวมถึงมาตรการล่าสุดจากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7-8 มาตรการ ถือเป็นการพยุงสถานการณ์ แต่สิ่งที่พรรคเสนอให้นำเรื่องของราคาน้ำมันเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเห็นการดำเนินการของรัฐบาลเป็นการทำงานรายกระทรวง อาทิ กระทรวงพลังงาน และเมื่อราคาสินค้ามีผลกระทบ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์มาหารือ ตนคิดว่าแค่ 2 กระทรวงจะยังไม่พอเรา”
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จึงเสนอให้ยกระดับมาตรการเป็นสถานการณ์วิกฤตโดยใช้ครม.เศรษฐกิจ หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม มาบูรณาการเชิงรุก พร้อมกับตั้งสมมุติฐานว่าสถานการณ์นี้จะยืดเยื้อไปถึงอย่างน้อยสิ้นปีและถึงต้นปี 2566 จะต้องแก้ปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะการแก้ปัญหาระยะยาว
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องยกระดับการดำเนินการไม่ใช่เพียงการตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาดูแล เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจถือว่าเปราะบางละเอียดอ่อนมีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานแต่เป็นปัญหาของราคาพนักงานที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ประชาชนจะต้องมีความเชื่อมั่นกับองค์กรที่จะแก้ปัญหา เพราะรัฐจะขาดความร่วมมือกับประชาชนจากการขาดความเตรียมพร้อมหรือมาตรการให้เข้าไปช่วยในช่วงวิกฤต ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศของการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงต้นทุนพลังงานและการขาดแคลน ซึ่งประเทศไทยยังไม่ถึงวิกฤตตรงนั้น แต่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรดำเนินการแบบแยกส่วน
“พรรคฯ เป็นห่วงมาก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ใช่สถานการณ์ปกติแต่เป็นสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดและเกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงอยากเห็นรัฐบาลยกความสำคัญของเศรษฐกิจ เราจึงเสนอเรื่องน้ำมันเป็นเรื่องหัวใจและมีกระทรวงเกี่ยวข้องมากมาย และต้องเน้นย้ำในเรื่องของการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ไม่อยากเห็นรัฐบาลรีบสรุปและแถลงมติออกมา เช่น เรื่องค่าการกลั่นจะทำให้การดำเนินการของรัฐบาลขาดความเชื่อมั่นหากเก็บค่าการกลั่นไม่ได้ตามเป้า 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือนตามคาดการณ์ที่ออกมา ประชาชนจะเกิดความไม่มั่นใจในการดำเนินการของรัฐ”