สินค้าขาดแคลน! สัญญาณเตือนผู้บริโภค - รัฐ เมื่อผู้ผลิตจะไม่ทนขาดทุนต่อไป

สินค้าขาดแคลน!  สัญญาณเตือนผู้บริโภค - รัฐ เมื่อผู้ผลิตจะไม่ทนขาดทุนต่อไป

ภาวะต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง ยังเป็นแรงกดดันใหญ่ต่อผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน ทำให้ผู้ประกอบการขอความเมตตาจากรัฐ โปรไฟเขียวให้ราคาสินค้าขยับ หากปล่อยให้การผลิตแบก "ขาดทุน" สินค้าอาจขาดแคลนได้

 

 

ก่อนหน้านี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม ฯลฯ ต่างส่งสัญญาณขอขึ้นราคาสินค้า แต่ต้องถูกภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์เบรกหัวทิ่ม ขณะที่ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง “เครือสหพัฒน์” ซึ่ง เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือ ถึงกับต้องออกโรงอ้อนขอความเมตตาจากรัฐให้เห็นใจไฟเขียวขึ้นราคาสินค้าด้วย หากไม่ได้ปรับขึ้นราคา อาจเห็นภาวะ “สินค้าขาดแคลน

ล่าสุด ผู้ผลิตสินค้าที่กำลังได้รับผลกระทบหนัก ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” ทุกเดือนคือ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผงซักฟอก เพราะนอกจากต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง เวลานี้มีเงินยังหาซื้อวัตถุดิบยากด้วย

++ผงซักฟอกผลิตแล้วขาดทุนทุกเดือน!!

บุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพว่า การผลิตผงซักฟอก ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยรวมขยับไม่ต่ำกว่า 10% และราคาวัตถุดิบยังปรับขึ้นทุกเดือนด้วย นอกจากวัตถุดิบแพง การหาซื้อวัตถุดิบยังยากมาก เพราะในตลาดโลกมีการขาดแคลนพอสมควร แม้มีเงิน ไม่ได้การันตีว่าจะหาวัตถุดิบมาผลิตสินค้าได้

ทั้งนี้ บริษัทมีการซื้อวัตถุดิบจากหลายแหล่ง โดยวัตถุดิบที่ราคาขยับแรงมากคือ สารลดแรงตึงผิว(Surfactant) และการนำเข้าวัตถุดิบมาสต็อกไว้ส่วนใหญ่มีระยะเวลา 1-2 เดือนเท่านั้น อย่างมากสุดไม่เกิน 3 เดือน

เมื่อต้นทุนพุ่ง ผู้ผลิตจึงดำเนินการขอปรับขึ้นราคากับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ จึงวอนรัฐเห็นใจและไฟเขียวด้วย เนื่องจากไลอ้อนฯ หากไม่มีความจำเป็น และสามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้ “การขึ้นราคาสินค้า” เป็นแนวปฏิบัติทางเลือกสุดท้ายที่จะทำ เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค

หากรัฐไฟเขียว เชื่อว่าทั้งตลาดจะปรับขึ้นราคาผงซักฟอกพร้อมกัน จากปัจจุบันมีความหวัง รอคอยและขายราคาเดิมไปก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม

สินค้าขาดแคลน!  สัญญาณเตือนผู้บริโภค - รัฐ เมื่อผู้ผลิตจะไม่ทนขาดทุนต่อไป

ผลิตภัณฑ์ผงซักฟอกในเครือสหพัฒน์ ผลิตโดยไลอ้อน(ประเทศไทย) 

“การผลิตผงซักฟอกต้องขาดทุนมาตลอด ทำให้เราลำบากมาก เนื่องจากราคาวัตถุดิบไต่เส้นลวดขึ้นมาทุกเดือน ถึงตอนนี้สต็อกวัตถุดิบก็หมดแล้ว หากไม่ได้ขึ้นราคา ประกอบกับวัตถุดิบหายาก มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าตามมา”

เมื่อได้ปรับขึ้นราคาผงซักฟอก สินค้าหมวดอื่นบริษัทยังแบกรับภาระ และบริหารจัดการต้นทุนได้ เพราะที่สุดในฐานะผู้ผลิตไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าครองชีพสูงให้กับผู้บริโภค

“แต่ผงซักฟอกหนักจริงๆ ต้นทุนขึ้นเยอะมาก หากต้นทุนพุ่งขึ้นจนผู้ผลิตไม่ไหว แล้วคุมราคาคิดว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิต หากผู้ประกอบการขึ้นราคาจนค้ากำไรเกินควร รัฐควรต้องจัดการ”

อย่างไรก็ตาม ผงซักฟอกเป็นสินค้าจำเป็น หากขึ้นราคาแล้ว ผู้บริโภคคงไม่ซักผ้าน้อยลง แนวทางการประหยัดทำได้ เช่น การซักผ้าจำนวนมากพร้อมกันในคราวเดียว ฯ

สินค้าขาดแคลน!  สัญญาณเตือนผู้บริโภค - รัฐ เมื่อผู้ผลิตจะไม่ทนขาดทุนต่อไป

บุญฤทธิ์ มหามนตรี

 ก่อนหน้านี้ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าหลายตัวปรับสูงขึ้น และเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงในรอบ 26 ปี เนื่องจากแนวโน้มราคาขึ้นแบบก้าวกระโดดไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยบะหมี่ฯ เป็นหนึ่งที่สินค้าที่เครือขอความเมตตาจากกระทรวงพาณิชย์ให้พิจารณาไฟเขียวขึ้นราคา

เป็นระยะเวลาราว 15 ปี ที่ “มาม่า” บะหมี่เบอร์ 1 ของเครือสหพัฒน์จำหน่ายซองละ 6 บาท แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนวัตถุดิบหลายรายการขยับขึ้นหลายเท่า เช่น แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ฯลฯ โดยทั้ง 2 รายการ เป็นส่วนประกอบสำคัญมากถึง 60-70%

การไม่ได้ปรับราคาสินค้า ทำให้ผู้ผลิตแบกรับภาระต้นทุนกระอัก ทางออกที่ผู้ประกอบการทำได้ นอกเหนือจากบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รัดเข็มขัดจนแน่น คือ การหันไปส่งออกยังตลาดต่างประเทศที่ “เปิดกว้าง” การขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่แท้จริง และอาจเห็นภาวะ “สินค้าขาดแคลน” เนื่องจากผู้ผลิตจะลดกำลังการผลิต สิ่งที่ตามมาคือ อาจเกิดการแย่งสินค้าเหมือนแย่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงไวรัสระบาดหนักหน่วง

สินค้าขาดแคลน!  สัญญาณเตือนผู้บริโภค - รัฐ เมื่อผู้ผลิตจะไม่ทนขาดทุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม “มาม่า” ผลิตโดยบมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ปัจจุบันวัตถุดิบการผลิตบะหมี่ ล้วนเป็นสต็อกใหม่หมดแล้ว นั่นหมายความว่าบะหมี่ ที่ผลิตจากนี้ไปเป็น “ต้นทุนใหม่” ที่แพงขึ้น

++ร้านอาหารจ่อขยับราคาขึ้น

นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นจ่อคิวขอขึ้นราคา ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกเซ็กเตอร์เจอต้นทุนพุ่ง ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ ปลาแซลมอน รวมถึงก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ที่จะขยับขึ้นตลอด 3 เดือนนี้  ประเด็นดังกล่าว นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารเตรียมปรับขึ้นราคาอาหารเมนูต่างๆ เช่นกัน

เพื่อลดผลกระทบ และความเดือดร้อนให้ผู้บริโภค สมาคมฯ เตรียมจัดทำโครงการข้าวแกงราคา 25 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดว่าจะเริ่มเมื่อไหร่อย่างไร

ด้านนายวิน สิงห์พัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชอคโกแลต กรุ๊ป ผู้บริหารร้านชอคโกแลตวิลล์ ซูชิ เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาหารพุ่งขึ้นสูงมาก บางอย่างขยับ “เท่าตัว” เช่น ปลาแซลมอน แต่บริษัท ยังไม่มีแผนจะขยับราคาเมนูอาหารแต่อย่างใด จะกัดฟันจำหน่ายราคาเดิมไปก่อน

สินค้าขาดแคลน!  สัญญาณเตือนผู้บริโภค - รัฐ เมื่อผู้ผลิตจะไม่ทนขาดทุนต่อไป

++ข้าวถุงขึ้นราคาแล้ว ล่าสุดจะปรับลง

นายกัมปนาท มานะธัญญา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ทำตลาดข้าวหงษ์ทองฉายภาพตลาดข้าวถุงมีการปรับขึ้นราคาไปแล้วตั้งแต่ มีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา และราคาผ่านจุดสูงสุดหรือพีคไปแล้ว เหตุปัจจัยที่ราคาขยับ เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เช่น อิหร่าน ตะวันออกกลาง ไม่ค่อยสั่งข้าวไทยก็มาสั่ง ส่วนสหรัฐ สั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

แต่สถานการณ์ราคาข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิก่อนหน้านี้เคยขายราว 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน มีการปรับลดมาอยู่ 800 ดอลลาร์ต่อตัน ทิศทางราคาจากนี้จะเริ่มเห็นความอ่อนตัวลงมากกว่าขยับขึ้นด้วย 

“ดีมานด์ข้าวในตลาดโลกเพิ่ม ทำให้ราคาข้าวขยับ รวมถึงราคาข้าวถุงในไทย แต่ขณะนี้ราคาเริ่มปรับลง แม้ไม่มากนักก็ตาม โดยราคาข้าวถุงที่จำหน่ายในตลาดยังไม่เกินเพดานที่รัฐกำหนด การทำโปรโมชั่นของแต่ละแบรนด์ทำให้ราคาลดลงด้วย เช่น ข้าวหอมมะลิ 5 กิโลกรัม(กก.)หน้าถุง 260 บาท บางช่วงลดเหลือ 165 บาท 175 บาท  ราคาข้าวถุงมีแนวโน้มจะลดลง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสินค้า Sunset ด้วย เนื่องจากคนไทยบริโภคข้าวน้อยลง มีอาหารทางเลือกอื่นๆ มากขึ้น และสังคมสูงอายุทำให้บริโภคข้าวน้อย

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์