ปั้น ‘เกาะหมาก’ ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ
การปลูกหญ้าทะเลได้มีการทดลองกันมาในระยะเวลาหลายปี พบว่าการปลูกหญ้าทะเลให้เกิดเป็นแหล่งหญ้าทะเลถาวรเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญในด้านต่าง ๆ ประกอบกับข้อมูลการศึกษาวิจัยที่มีมากเพียงพอเพื่อไม่ให้หญ้าทะเลที่ปลูกตายในภายหลัง
จากเป้าหมาย "Net Zero" หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ที่ประเทศและองค์กรต่างๆ ได้ประกาศเพื่อร่วมบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องของนักวิทยาศาสตร์ พบว่าระบบนิเวศทางทะเลที่สามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง คือ ระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล อย่างไรก็ตาม การปลูกหญ้าทะเลได้มีการทดลองกันมาในระยะเวลาหลายปี พบว่าการปลูกหญ้าทะเลให้เกิดเป็นแหล่งหญ้าทะเลถาวรเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญในด้านต่าง ๆ ประกอบกับข้อมูลการศึกษาวิจัยที่มีมากเพียงพอเพื่อไม่ให้หญ้าทะเลที่ปลูกตายในภายหลัง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท บางจากฯ ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ระบุ บางจากได้สนับสนุนการดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเล เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบ Blue Carbon ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่าง ๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่
นอกจากนี้ ยังต่อยอดสู่การลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination บริเวณหมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด ร่วมสนับสนุนพื้นที่เกาะหมากซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของประเทศไทยที่ อพท. เป็นผู้ริเริ่มการขับเคลื่อน ผนวกกับการใส่ใจดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจากชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศในการร่วมบรรเทาภาวะวิกฤติของโลกด้านสภาพภูมิอากาศ
ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ระบุ อพท. ต้องการผลักดันให้ “เกาะหมาก” เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม หรือ โลว์คาร์บอน เดสติเนชั่น (Low Carbon Destination) ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการท่องเที่ยวให้น้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวโดยทั่วไป และยกระดับให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยวของประเทศไทย
การทำงานตามแนวทาง Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่รู้จบ อพท. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ “การจัดการขยะภาคการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก” เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะบนเกาะหมากอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักคิดที่เริ่มจากลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้เกิดเป็นขยะ และมีการบริหารจัดการขยะบนเกาะโดยเน้นการนำมาหมุนเวียนเพื่อการใช้ประโยชน์ให้ยาวนานที่สุด และสุดท้ายคือการเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี ด้วยเป้าหมายการผลักดันเกาะหมากขึ้นเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน