สมอ.อัดงบเพิ่ม 1.8 พันล้าน ดันศูนย์ทดสอบยานยนต์เฟส 2
โครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เฟส 2 อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็ว ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รวมทั้งกำลังอาคารเตรียมสภาพรถ ห้องทดสอบการชน และจัดซื้อเครื่องมือทดสอบเพิ่มเติม เตรียมเปิดใช้งานเต็มรูปแบบในปี 2569
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ดำเนินการบนพื้นที่ 1,235 ไร่ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ศูนย์ทดสอบยานยนต์จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้วยการสนับสนุนด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม
รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างบุคลากรที่มีศักยภาพและมีความสามารถทดสอบและรับรองมาตรฐานได้เองในประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย
บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรแล้ว 1,872.7 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบประมาณ ปี 2566 อีก 1,833 ล้านบาท โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 (เกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ) และอาคารปฏิบัติการทดสอบยางล้อแล้วเสร็จ รวมทั้งดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบยางล้อ ด้านมลพิษทางเสียง การยึดเกาะบนพื้นผิวเปียก และความต้านทานการหมุน แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ได้เปิดให้บริการทดสอบแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2562 และมีผู้มาขอรับบริการทดสอบแล้วจำนวนกว่า 100 ชุดตัวอย่าง เพื่อรองรับมาตรฐานบังคับของยางล้อส่วนอาคารสำนักงานคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565
ระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและสนามทดสอบแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ สถานีควบคุมการทดสอบ สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance Track) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake (Test Hill) Track) สนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform Track) สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง (Skid Pad Track) และถนนหลักในสนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน
รวมทั้งดำเนินการติดตั้งเครื่องมือทดสอบ ได้แก่ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัย ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย และชุดทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะแล้วเสร็จ คงเหลือชุดทดสอบห้ามล้อ ที่อยู่ระหว่างการติดตั้งและส่งมอบซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565
สำหรับการของบประมาณโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในปี 2566 ส่วนที่เหลืออีก 1,833 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้างสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ไทยมีศูนย์ทดสอบยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากจีน
อาคารสำหรับเตรียมสภาพรถ ทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อ และ LAB ทดสอบการชน รวมทั้งใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบเพิ่มเติม ได้แก่ ชุดทดสอบอุปกรณ์เลี้ยว ชุดทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ชุดทดสอบมาตรความเร็ว ชุดทดสอบความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง พลังงานไฟฟ้า และระยะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ชุดทดสอบการชนด้านหน้าและการชนด้านข้าง และชุดทดสอบอุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือน
ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะสร้างเสร็จภายในปี 2569 ซึ่งจะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ1 ในอาเซียน คาดว่าจะสร้างรายได้จากการให้บริการทดสอบรถเครื่องยนต์สันดาปราว 530 ล้านบาทต่อปี โดยยังไม่รวมส่วนให้บริการทดสอบแบตเตอรี่ไฟฟ้า
นอกจากนี้ สมอ.ได้จัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 129 มาตรฐาน ภายในปี 2565 แบ่งเป็นมาตรฐานที่บังคับใช้แล้ว 122 มาตรฐาน และอยู่ในระหว่างการประกาศเป็นมาตรฐาน 7 มาตรฐาน ได้แก่ ความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า สายไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์ทดสอบยานยนต์ มีความพร้อมในการให้บริการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับแบตเตอรี่ขับเคลื่อนในยานยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมทั้งสมรรถนะและความปลอดภัย โดยจะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ส.ค. 2565 ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทดลองใช้งานกับกลุ่มผู้พัฒนาแบตเตอรี่แล้วบางส่วน
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า งบประมาณปี 2566 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรสภาผู้แทนราษฎร อาจได้รับการอนุมัติไม่เต็มจำนวน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้แผนการก่อสร้างต้องล่าช้าออกไปอีกจากกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2569