พิษโควิด-19 กระทบลูกหนี้ดี ไหลเป็น ‘หนี้เสีย’ทะลัก 2.7ล้านบัญชี
เครดิตบูโรเปิดข้อมูลลูกหนี้ พบลูกหนี้ไหลเป็นหนี้เสียทะลัก จากโควิด-19 ราว 2.1ล้านคน หรือ 2.7ล้านบัญชี จากลูกหนี้ดี ดันหนี้เสียพุ่ง7-9% สูงกว่าระบบแบงก์ที่ต่ำเพียง3%
ปัญหา “หนี้” ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่แก้ไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น ยิ่งเกิดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ หรือโควิด-19 ยิ่งทำให้ลูกหนี้มีความเปราะบางมากขึ้นด้านรายได้ ปัญหา หนี้ ก็ยิ่งทวีความรุนแรง ทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง หนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ยังไหลทะลักเข้ามาในระบบอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบโควิด-19
การจัดอบรมสมาชิกของ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(เครดิตบูโร) ประจำปี 2565 เป็นการเปิดเวทีเสวนา ระหว่าง “เครดิตบูโร” กับสมาชิกในมุมที่น่าสนใจ ทั้งการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน สถานการณ์หนี้เสียเพื่อให้สมาชิกในระบบเครดิตบูโร สามารถจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในวงเสวนาระหว่างเครดิตบูโร และสมาชิก ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ ข้อมูลหนี้ที่จะเข้าโครงการช่วยเหลือจากสถานการณ์โควิด-19 ของระบบสถาบันการเงิน ที่คาดว่า จะมีสูงถึง 5.6 ล้านคน เป็นหนี้ปกติ 78% 4.3 ล้านคน หนี้ SM 6% หรือ 3.6 แสนคน และคนที่เป็นหนี้เสีย มี 16% หรือ 9 แสนคน
ขณะที่ หากดูเฉพาะลูกหนี้บนฐานข้อมูลเครดิตบูโร จากจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 81.3 ล้านบัญชี ในส่วนนี้เป็นหนี้ SM 2.58 ล้านบัญชี 3.2% ขณะที่เป็นกลุ่มหนี้เสีย 8.44 ล้านบัญชี หรือ10.4% และบัญชีที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ 2.5 ล้านบัญชี 3.1%
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมบัญชีลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พิจารณาจาก รหัสสถานะบัญชี “21” หรือหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เนื่องจากลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่ปกติ หากเป็นรหัส 10 หรือ 010 ถือเป็นลูกหนี้ปกติ ไม่มีการค้างชำระ ส่วน รหัส 20 หรือ 020 เป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเป็นหนี้เสีย NPL แล้ว
โดยหากดูเฉพาะลูกหนี้รหัส 21 ที่ไหลมาเป็นหนี้เอ็นพีแอล ล่าสุดอยู่ที่ 2.61 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้เสียทั้งหมดที่ 2.16 แสนล้านบาท ซึ่งไหลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ราว 3 แสนบัญชี หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้น 1.6หมื่นล้านบาท หากเทียบกับ ช่วงม.ค. 2565 ที่ ลูกหนี้กลุ่ม 21 มีทั้งหมด 2.3 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้เสียเพียง 2 แสนล้านบาท ดังนั้นการขยายตัวของลูกหนี้ในกลุ่ม 21 ถือว่ายังไหลต่อเนื่อง แม้ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ก็ตาม
+++หนี้เสียในระบบสูงขึ้น
ขณะเดียวกันหากดูคุณภาพหนี้ บนข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า ปัจจุบัน หนี้เสียในระบบสูงถึง 7.5% หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้เสีย 9.5 แสนล้านบาท
ซึ่งสูงกว่ามาก หากเทียบกับข้อมูลหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ บนข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่อยู่ระดับ 3% ไม่พอ หากดูกลุ่มลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้าง พบว่ามีจำนวนมากไม่แพ้กัน โดยอยู่ที่ 6.2 % หรือ 7.9 แสนล้านบาท
นี่ยังไม่นับรวมกับ ลูกหนี้ไม่กลุ่ม “SM” ที่พบว่า กลุ่มนี้มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 4% หากเทียบกับสิ้นปีก่อนที่อยู่เพียง 3.3% และขึ้นไปสูงที่สุดในรอบ 7 ปี จาก ไตรมาสแรก ปี 2559 ที่เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากแกะไส้ในของ “หนี้”ในรหัส 21 พบว่า เกือบ 70% มาจากสินเชื่อ Ploan หรือสินเชื่อส่วนบุคคล
ซึ่งหากดูสินเชื่อส่วนบุคคลในปัจจุบัน พบว่า มีบัญชีเปิดใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยในไตรมาส 1ปี 2565 บัญชีเปิดใหม่เฉพาะสินเชื่อบุคคลมีทั้งหมด 1.37 ล้านบัญชี โดยเร่งตัวขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดบัญชีใหม่ ตามโครงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
หากดูด้าน “คุณภาพหนี้”พบว่า หนี้เสียยังอยู่ระดับสูง ที่ 9.6% ซึ่งเป็นการทรงตัวติดต่อกัน 8ไตรมาสที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ 2.4 แสนล้านบาท ขณะที่ การปรับโครงสร้างหนี้ล่าสุดอยู่ที่ 11.7% ส่วนกลุ่ม SM อยู่ที่ 4.5%
ด้วยสถานการณ์ “หนี้เสีย”ที่น่าห่วง ทั้งลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียปกติ และลูกหนี้ ที่เพิ่งมาเสีย จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เร่งขึ้นตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีการตั้งคำถาม ในวงเสวนาของ “เครดิตบูโรกับสมาชิก”ว่า หากไม่เร่งแก้ไขปัญหากลุ่ม รหัส 21 ให้กลับไปเป็นหนี้ปกติโดยเร็ว หนี้ในระบบก็อาจยังสร้างปัญหาให้กับระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง
+++ตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวทางศก.
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ถือว่าสร้างความกังวลใหักับภาครัฐ ผู้ทำนโยบายไม่น้อย เพราะปัญหาหนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นปัญหาฉุดรั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ท่ามกลาง การผลักดันของภาครัฐ ที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างไม่สะดุด
ดังนั้นสิ่งที่ต้องรีบเร่ง ทั้งภาคการเงินการคลังในเวลานี้ คือการเข้าไปแก้ไขกลุ่มลูกหนี้ รหัส 21 ให้ได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะกลุ่มนี้ เป็นหนี้เสีย จากสถานการณ์ไม่ปกติ จากโควิด-19 จากเดิมที่ลูกหนี้กลุ่มนี้ถือเป็นลูกหนี้ดีมาโดยตลอด ก่อนปี 2562 ซึ่งจะเป็นโจทย์สำคัญ ที่ภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องรีบเข้ามาให้ความสำคัญมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหา “หนี้” จำเป็นต้องใช้นโยบายที่ “พุ่งเป้า”เพื่อช่วยเหลือคนเดือดร้อนให้ถูกจุด ที่จะช่วยลดผลกระทบ และแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ และลดการไหลของหนี้ไปเป็นหนีเ้สียให้มากที่สุด
หากถามว่า “กลุ่มเปราะบาง”ในที่นี้คือกลุ่มไหนบ้าง หลักๆก็คงเป็นกลุ่ม“สินเชื่อรายย่อย” โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่พึ่งพาสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลเพื่อใช้ในการหมุนเวียนในชีวิตประจำกัด ดังนั้น คำถามคือ มาตรการทางการเงินที่มีอยู่ วันนี้เพียงพอหรือไม่?
แม้ล่าสุด ธปท.จะมีการขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะการลดอัตราผ่อนขั้นต่ำของบัตรเครดิต และยืดการผ่อนชำระสินเชื่อดิจิทัลต่อไปอีก 1ปี สิ้นสุดปี 2566 รวมถึงมาตรการทางการเงินที่ยังคงอยู่ เช่นการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว แต่คำถามคือมาตรการเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่ ที่จะลดความเปราะบางครัวเรือน แก้ปัญหาหนี้ในระบบให้ลดลงโดยเร็ว
ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นเวลานี้คือ ลูกหนี้อาจต้องการ มาตรการที่ “ตรงจุด” และ “พุ่งเป้า” และช่วยเหลือแบ่งเบาภาระมากกว่านี้ ภายใต้ค่าครองชีพยิ่งสูงขึ้น จากต้นทุนราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น