นักลงทุนสาย VI ต้องไม่พลาด ‘ตลาดหุ้นญี่ปุ่น’ กลับสู่เรดาร์
เศรษฐกิจญี่ปุ่นสวนกระแส “เงินเฟ้อ” สูง จับตาแสงสว่างเริ่มเจิดจ้าที่แดนอาทิตย์อุทัย บลจ.จิตตะเวลธ์ เผย 3 กลุ่มอุตสาหกรรม เฮลธ์เทค-ก่อสร้าง-เหมืองแร่ ในดัชนี Nikkei ขุมทรัพย์หุ้นดี-ราคาถูกที่นักลงทุนสาย VI ไม่ควรพลาด
“เงินเฟ้อ” กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของเศรษฐกิจทั่วโลกแห่งปี 2565 ไปเสียแล้ว แทบทุกประเทศกำลังกรำศึกกับเงินเฟ้อกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ต่างเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในรอบ 40 ปี
จนธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ต้องเร่งยาให้แรงขึ้นพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยแบบจัดหนักจัดเต็ม ซึ่งรอบล่าสุด FED ปรับดอกเบี้ยขึ้นถึง 0.75% หลังเงินเฟ้อขึ้นไปทำนิวไฮอีกครั้งถึง 9.1% และคาดว่าเฟดจะยังคงยึดนโยบายการเงินแบบตึงตัว เป็นไม้เรียวไว้คุมเงินเฟ้อจนกว่าจะลดลงมา
จับตาแสงสว่างเริ่มเจิดจ้าที่แดนอาทิตย์อุทัย
หันสปอตไลท์มาทางซีกโลกตะวันออก หนึ่งในเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่าง “ญี่ปุ่น” กลับดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตรงข้ามกับสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ยังคงใช้นโบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Untraloose Monetary Policy) อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
แต่หลายคนที่เห็นตัวเลขเงินเฟ้อญี่ปุ่นก็อาจตกใจเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ รวมทั้งเงินเฟ้อของไทยเอง ที่ตกใจไม่ใช่เพราะตัวเลขสูงปรี๊ด!! แต่ต้องประหลาดใจกับตัวเลขที่ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ
เงินเฟ้อต่ำ-ดอกเบี้ยติดลบ
แม้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากไม่ว่าจะเทียบกับใครก็ตาม ทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันหรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ขณะที่สเต็ปการขึ้นของเงินเฟ้อญี่ปุ่นก็ถือว่าต่ำมากเช่นกัน จาก 2.1% มาเป็น 2.2% เทียบกับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พรวดพราดขึ้นมาจาก 8.6% เป็น 9.1% ด้านเงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนก็ยังสูงต่อเนื่องที่ประมาณ 6% ส่วนไทยเรานั้น แบงก์ชาติได้ปรับประมาณการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 4.9% และคาดว่าเงินเฟ้อไทยจะพีคที่ระดับ 7.5% ในไตรมาสที่ 3 นี้
ขณะที่ผลการประชุม BOJ ล่าสุด ยังคงมีมติให้คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับทิศทางดอกบี้ยขาขึ้นของอเมิกาและยุโรป โดย BOJ ประกาศคงดอกระยะสั้นไว้ที่อัตราติดลบ 0.1% และอัตราดอกเบี้ยระยะยาว 0% รวมทั้งยังคงนโยบาย yield curve control ในการเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยไม่จำกัดจำนวนต่อไป เพื่อควบคุมให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นระยะเวลา 10 ปี อยู่ในระดับเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 0.25% ซึ่งในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา BOJ ได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) มูลค่า 16 ล้านล้านเยน (1.16 แสนล้านดอลลาร์)
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับสู่เรดาร์นักลงทุน
ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei ได้ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมาแบบเงียบๆ ไม่หวือหวาน่าจับตาเท่าตลาดหุ้นเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อื่นๆ แต่ก็มาแล้วและตอนนี้ดัชนี Nikkei เคลื่อนไหวอยู่ราวๆ 30,000 จุด ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมาอยู่ในสปอตไลท์ของนักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจหลุดออกจากวงโคจรของนักลงทุนหลายๆ คนไปแล้ว เมื่อญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน ถูกขนานนามว่าเป็น The Lost Decade หลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนานนับ 20 ปี ขณะที่ตลาดหุ้น Nikkei ได้ผ่านช่วง Boom สุดๆ และ Bubble มาเรียบร้อยแล้ว
"ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ กล่าวว่า ถ้าดูสถิติย้อนหลังไป 10 ปี จะพบว่าดีชนี Nikkei ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเรียบๆ มาเรื่อยๆ และเป็นตลาดของนักลงทุนในประเทศเองมากกว่านักลงทุนต่างชาติ และด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจใหญ่ระดับโลก
ตลาดหุ้นก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน ด้วยจำนวนบริษัทจดทะเบียนน้อยใหญ่มากมายนับพันตัว ซึ่งบางบริษัทไม่เป็นที่รู้จักหรืออยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างชาติมากนัก โดยนักลงทุนต่างชาติจะคุ้นเคยกับบริษัทส่งออกยักษ์ใหญ่หรือแบรนด์ใหญ่ๆ เป็นหลัก แต่ถ้าเจาะลงไปให้ลึกถึงก้นบึ้งของ Nikkei คุณจะพบขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งดินแดนซากุระแห่งนี้หอมหวลไปด้วยหุ้นดี ราคาน่าคบหามากมาย
หุ้นนอกสายตาหลายบริษัท มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสูงมาก ตั้งแต่ระดับ 50% ต่อปี ไปจนถึง 80-90% สำหรับบางบริษัท ขณะที่ราคาหุ้นหลายบริษัทยังต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก หรือเรียกได้ว่าราคาไม่ไปไหนเพราะไม่ใช่หุ้นที่ป๊อบปูลาร์ในสายตานักลงทุน (ต่างชาติ)
Nikkei ขุมทรัพย์หุ้นดี-ราคาถูก
"ตราวุทธิ์" แนะว่า ถ้าคุณเป็นนักลงทุนสาย VI (Value Invetor) ที่เน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสม และมีโอกาสเติบโตในระยะยาว การกลับมาของตลาดหุ้นญี่ปุ่นจึงถือเป็นโอกาส
โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มเฮลท์แคร์และเฮลท์เทค ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีประชากรสูงวัยจำนวนมาก ขณะที่ญี่ปุ่นติด 1 ใน 3 ของประเทศที่ประชากรอายุยืนที่สุดในโลก โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 84.6 ปี นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาเสมอ
ยกตัวอย่างหุ้นในกลุ่ม health tech ซึ่งอาจไม่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนต่างชาติมากนัก แต่ศักยภาพอยู่ในขั้นล้ำโลกก็ว่าได้ เช่น BML, INC ที่โชว์ตัวเลขรายได้และกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 6,000 ล้านเยน เป็น 33,000 ล้านเยน เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า หรืออีกบริษัทคือ TaKaRa Bio Inc ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและผลิตวัคซีน mRNA ที่ทำรายได้มหาศาลในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา
"กลุ่มก่อสร้าง" ก็เป็นถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเด่นของญี่ปุ่น แม้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ญี่ปุ่นยังมีการก่อสร้างและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และเรายังคงเห็นการพัฒนานวัตกรรมด้านการก่อสร้างใหม่ๆ จากญี่ปุ่นอยู่เสมออย่างไม่เคยหยุดนิ่ง
"อุตสาหกรรมเหมืองแร่" ก็มีความโดดเด่นจนหลายคนอาจคิดไม่ถึง เพราะพื้นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ของญี่ปุ่นต้องพึ่งพาแร่ธรรมชาติ แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วไม่เพียงแค่การสำรวจแร่ธาตุทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นแร่ธาตุหายากใต้ทะเลลึก ที่จะต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อีกมากมาย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยญี่ปุ่นจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดเจาะแร่ธาตุหายาก ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอีกด้วย
นอกจากจะเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกแล้ว “ญี่ปุ่น” ยังเป็นประเทศที่สองของคนไทยหลายๆ คน และคงมีคนเตรียมแพ็กกระเป๋าจัดทริปญี่ปุ่นช่วงปลายปีนี้กันแล้ว ด้วยความอันอั้นแห่ง pent-up demand ต่อให้เงินเฟ้อจะสูงแค่ไหนก็ต้านเราไม่ได้ และเมื่อมีขึ้น เงินเฟ้อก็ต้องมีลง.. เช่นเดียวกับความหวังของเศรษฐกิจแห่งแดนอาทิตย์อุทัย ที่เชื่อว่าจะกลับมาฉายแสงอีกครั้ง