รู้จัก "DINK" วิถีคู่รัก "ไม่มีลูก" รายได้คูณสอง "รวย" ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์
พาไปทำความรู้จัก “DINK“ หรือ “Double Income, No Kids“ คู่รักที่อยู่ด้วยกัน มีรายได้สองเท่า “รวย” แต่ “ไม่มีลูก” อีกหนึ่งวิถีชีวิตที่คนรุ่นใหม่อยากเป็นมากขึ้น
คนรุ่นใหม่ "ไม่อยากมีลูก" เพิ่มมากขึ้น และไม่ได้รู้สึกกว่าชีวิตคู่ที่ไม่มีลูกเป็นชีวิตรักที่ไม่สมบูรณ์อีกต่อไป หากสามารถใช้ชีวิตได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนทั้งคู่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่อง "เงิน"
แนวคิดลักษณะนี้ถูกเรียกว่า DINK ที่มาจากคำว่า "Double Income, No Kids" หรือ "Dual Income, No Kids" ที่ไม่ใช่แนวคิดที่เริ่มต้นเร็วๆ นี้ แต่เป็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีมาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 20 เสียอีก
มีข้อมูลหนึ่งระบุว่า DINK ถูกกล่าวถึงครั้งแรกๆ ในทางการตลาด เมื่อปลายทศวรรษที่ 1980 ในนิตยสาร Nikkei ของประเทศญี่ปุ่น
DINK เป็นคำแสลงที่นิยามถึงคู่รัก ที่ทำงานทั้งคู่ มีรายได้สองทาง ทำให้มีฐานะดี แต่ไม่มีลูก ซึ่งกลุ่มนี้หมายความรวมถึง คู่รักที่เพิ่งอยู่ด้วยกัน คู่รักเพศเดียวกัน หรือบางข้อมูลก็รวมคู่รักที่ลูกเติบโตออกไปใช้ชีวิตของตัวเองแล้ว
การไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกนี่เอง ที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีเงินเหลือมาเก็บออม ลงทุน หรือใช้จ่ายเพื่อตัวเอง หรือใช้จ่ายเพื่อกันและกันมากขึ้น อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าคนโสดเนื่องจากสามารถแชร์ค่าใช้จ่ายกับคู่ของตัวเองได้
- DINK เป้าหมายทางการตลาดที่น่าสนใจ
จุดเด่นนี้ทำให้กลุ่ม DINK มักเป็นเป้าหมายทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน เช่น หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ ที่สามารถช่วยสร้างฐานะได้
รวมไปถึงเป็นเป้าหมายในการขายสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าลักชัวรี สินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ราคาแพง แพ็คเกจโรงแรมหรู ฯลฯ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักมีรายได้ที่สามารถจับจ่ายในส่วนนี้ได้มากกว่านั่นเอง
DINK มักมีรายได้มากกว่าคนโสด เพราะมีรายได้สองทาง สามารถแชร์ค่าใช้จ่ายกันได้ และมักร่ำรวยกว่าครอบครัวที่มีลูก เพราะไม่มีค่าให้จ่ายสำหรับลูก
- คนรุ่นใหม่ใน "อเมริกา ญี่ปุ่น ไทย" อยากมีชีวิตแบบ DINK มากขึ้น
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่แนวคิดเท่านั้น แต่การชีวิตลักษณะนี้เริ่มมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
ยกตัวอย่าง "สหรัฐอเมริกา" ปัจจุบันชาวอเมริกันมีแนวโน้มวางแผนให้ตัวเองมีวิถีชีวิตแบบ DINK มากขึ้น
สะท้อนจากการทำแบบสอบถามพบว่าคนที่เกิดหลังปี 2540 หรือ "Gen Z" จำนวน 1,024 คน เกี่ยวกับการวางแผนการเงินและการชีวิตในอนาคต เกือบ 1 ใน 4 คาดว่าจะได้ใช้ชีวิตแบบ DINK สักวันหนึ่ง โดยเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นครอบครัวที่มีรายได้สองทาง และไม่มีลูก
โดย 98% ของ Gen Z เห็นด้วยว่าการใช้ชีวิตที่มีความสุขสบายทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พร้อมทั้งมองว่าสุขภาพจิตที่ดีอยู่เบื้องหลังความมั่นคงทางการเงินด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังพบตัวเลขที่สะท้อนว่า "รายได้ของ DINK" มากกว่า "ครอบครัวที่ไม่ใช่ DINK" จริง โดยรายได้เฉลี่ยของครอบครัวสำหรับ DINK อยู่ที่ 138,035 ดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่ใช่ DINK ที่เฉลี่ยอยู่ที่ราว 103,005 ดอลลาร์อีกด้วย
ขณะที่ใน "ญี่ปุ่น" ก็ปรากฏข้อมูลจาการสำรวจพบว่าวิถีชีวิตแบบ DINK ในญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มมาตั้งแต่ ราวปี 2558 โดยการสำรวจในครั้งนี้รวบรวมจากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,241 อายุ 20-40 ปี
พบว่า 46% ของ "คู่รักที่ไม่มีลูก" จะแชร์ค่าครองชีพ และครึ่งหนึ่งมีเงินฝากออมทรัพย์ ขณะที่ 81.3% บอกว่าพวกเขาชอบการบริโภคตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง และ 93.2% ของพวกเขาไม่มีความกังวลใจเกี่ยวกับการไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุด
ซึ่งในแง่ของค่าใช้จ่าย การดำเนินชีวิตแบบไม่มีลูกทำให้ DINK ในญี่ปุ่นมีเงินสำหรับการใช้จ่ายตามอำเภอใจเฉลี่ย 69,000 เยน ต่อเดือนเลยทีเดียว
แม้การสำรวจข้างต้นจะผ่านมาหลายปี แต่สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นได้คาดการณ์ว่าเปอร์เซ็นต์ของคู่สมรสที่ไม่มีลูกลักษณะเดียวกันนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 21.2% ของครัวเรือนญี่ปุ่นภายในปี 2578 ด้วย
ซึ่งเป็นไปในทิศทางคล้ายกับ "ไทย" ที่พบว่าคนไทยมีแนวโน้มใช้ชีวิตวิถี DINK มากขึ้นเช่นกัน โดยข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" ตั้งแต่ปี 2549-2561 สะท้อนว่าประเทศไทยมีโครงสร้างที่เรียกว่า "ครัวเรือนไร้ลูกหลาน" เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
พบว่าในปี 2561 ครัวเรือนที่ไม่มีลูกหลานมี 37.4% ของครัวเรือนทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นถึง 43.3% จากปี 2549 ที่มีอยู่ 26.1% เท่านั้น
นอกจากนี้ "อัตราเจริญพันธุ์" (fertility rate) หรือจำนวนลูกเฉลี่ยต่อผู้หญิงหนึ่งคนอยู่ที่ 6.3 คน ในช่วงปี 2507-2508 (เมื่อ 50 ปีที่แล้ว) แต่ในช่วงปี 2558-2563 ลดลงเหลือเพียง 1.45 คนเท่านั้น
แม้จะไม่พบข้อมูลที่สนับสนุนว่าการใช้ชีวิตแบบ DINK ในไทย จะมีส่วนทำให้มีรายได้มากกว่าครอบครัวที่มีลูกหรือคนโสด แต่ตัวเลขการมีลูกที่ลดลงก็สะท้อนว่ามุมมองและเป้าหมายชีวิตของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการใช้ชีวิตแบบ DINK จะทำให้ "รวย" ไปเสียหมด เพราะต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมทางการเงินของแต่ละคู่ด้วย เพียงแต่ข้อมูลต่างๆ สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้ "มีโอกาสรวย" ได้มากกว่า เนื่องจาก "มีเงิน" พอที่จะมอบความสุข และต่อยอดความร่ำรวยให้ตัวเอง โดยไม่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการเลี้ยงดูลูกนั่นเอง
-------------------------------------------------------------
อ้างอิง: bccjacumen , scb , investopedia , rubyhome , กรุงเทพธุรกิจ , chula