ADVANC ครึ่งปีหลัง 65 ปรับทัพสู้เศรษฐกิจชะลอ- เงินเฟ้อพุ่ง
“แอดวานซ์” ปรับกลยุทธ์ 3 ธุรกิจ “มือถือ-เน็ตบ้าน-ลูกค้าองค์กร” ครึ่งปีหลัง รับมือศก. ชะลอตัวพร้อมสร้างการเติบโต เน้นเจาะกลุ่มลูกค้ากระทบน้อย หลังเงินเฟ้อพุ่ง กดดันการใช้จ่ายผู้บริโภคตึงตัว หั่นเป้ารายได้ปีนี้โต 1-3% เดิม 4-6% เผยดีล 3BB-JASIF คาดเสร็จไตรมาส 1 ปี 66
นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยว่า บริษัทมีการปรับแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง 2565 ด้วยวางกลยุทธ์รับมือและมุ่งสร้างการเติบโตของรายได้ 3 ธุรกิจหลัก ธุรกิจมือถือ5จี-อินเตอร์เน็ตบ้าน-บริการลูกค้าองค์กร โดยมองว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้
โดยกลยุทธ์ธุรกิจมือถือยังมีกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอยู่บ้างแต่ไม่ได้กระทบการจับจ่ายใช้สอยมากนัก คาดว่าจะขยับฐานลูกค้านี้จากแพกเกจ 4 จี มาบน 5 จี เพิ่มขึ้น ด้วยการนำเสนอมือถือรุ่นระดับที่ถูกลงต่ำกว่า 6,000 บาท และการพัฒนาโครงข่าย 5 จี ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้า 5 จี แตะ 5 ล้านรายสิ้นปีนี้ ปัจจุบันอยู่ที่ 3.9 ล้านราย และยกระดับรายได้ต่อเลขหมาย (ARPU) เพิ่มขึ้น 10-15%
ธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน ขยายพื้นที่ใหม่ๆ ในต่างจังหวัด รอบนอกตัวเมืองมากขึ้น เน้นคุณภาพสัญญาณและบริการแจ้งซ่อม ภายใน 24 ชม. เพื่อรักษาฐานลูกค้า แม้ที่ผ่านมาการแข่งขันสูง ทำให้ราคาสมัครแพกเกจบรอดแบรนด์อยู่ในระดับต่ำกดดัน ARPU แต่ที่ผ่านมายังมีรายได้โต 20% เชื่อครึ่งปีหลังยังโตระดับนี้ได้
ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร มุ่งโตกลุ่มบริการคลาวด์ เป็นผลิตภัณฑ์หัวหอก สร้างการเติบโตรายได้เป็นสองหลัก จากปัจจุบันโตเกือบ 40% ซึ่งกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ยังมีโอกาสโตมากโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์คลาวด์แพลคฟอร์ม ซอฟต์แวร์แอสเซทเซอร์วิส ที่จะสนับสนุนองค์กรปรับตัวกับดิจิทัลทราฟอร์มเมชั่นและลดต้นทุน
สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดโควิดสายพันธ์ุโอไมครอน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จากเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น หลังราคาน้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคตึงตัวมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่สูงมาก
ยังคงเป็นปัจจัยลบเข้ามาต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกทำให้รายได้ปีนี้เติบโตไม่ถึงตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ บริษัทจึงได้ปรับลดคาดการณ์รายได้ปีนี้เหลือโต 1-3% เดิมคาดโต 4-6% รวมทั้งปรับลดเป้าหมายอิบิทดา (EBITDA) คาดโตทรงตัวใกล้เคียงปีก่อน และปรับลดงบลงทุนเหลือ 30,000 ล้านบาท เดิมคาดไว้ 30,000-35,000 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับเงินบาทอ่อนค่า เหมาะสมกับรายได้ที่จะเข้ามา คงเน้นลงทุนเพื่อพัฒนาโครงข่าย 5 จี
นางสาวนัฐิยา กล่าวว่า กรณีความคืบหน้าเข้าซื้อหุ้นบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ TTTBB และ เข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จากบริษัท จัสมิน อิตเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS คาดช่วงเดือนก.ย.นี้ จะประชุมผู้ถือหุ้นและผู้ถือหน่วยลงทุน
จากนั้น บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) จะยื่นเรื่องขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมจาก กสทช. ก่อนลงนามซื้อขายหุ้นและหน่วยลงทุนดังกล่าว เสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 66
และปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเป็นทางเลือกในการนำทรัพย์สินของบริษัทเข้ากองทุนรวมที่มีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วย ซึ่งบริษัทมีทรัพย์สินที่สามารถนำเข้ากองทุนรวมได้คือ เสาบริการมือถือ 2 หมื่นต้น รวมถึงสายไฟเบอร์ทั่วประเทศ