เงินเฟ้ออ่อนตัว ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีโลก
ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้ แต่เตือนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยและรัสเซียรุกรานยูเครนยังส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รายงานเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค.) ตามเวลาสหรัฐ เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัว 2.9% เพิ่มขึ้น 0.2% จากที่เคยคาดไว้เมื่อเดือน ต.ค.2565 แต่ก็ยังต่ำกว่าปี 2565 ที่เติบโต 3.4% นอกจากนี้ไอเอ็มเอฟยังปรับลดคาดการณ์ปี 2567 มาอยู่ที่ 3.1%
นายปิแอร์ โอลิวิเยร์ กูรินชาส ผู้อำนวยการแผนกวิจัยไอเอ็มเอฟ เผยผ่านบล็อก “การเติบโตยังคงอ่อนแอหากเทียบกับมาตรฐานที่ผ่านมา เนื่องจากต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อและสงครามของรัสเซียในยูเครนส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”
ส่วนการที่ไอเอ็มเอฟมองเศรษฐกิจโลกดีขึ้นในหลายประเทศเพราะปัจจัยภายในดีเกินคาดเช่น สหรัฐ
“การเติบโตทางเศรษฐกิจพิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา ด้วยตลาดแรงงานแข็งแกร่ง การบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคธุรกิจคึกคัก ยุโรปปรับตัวในวิกฤติพลังงานได้ดีกว่าที่คาด อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อยังลดลงด้วย”
นอกจากนี้ การที่จีนประกาศเปิดประเทศอีกครั้งหลังล็อกดาวน์โควิดเข้มงวด คาดว่ามีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกโตขึ้น เงินดอลลาร์อ่อนค่ายังช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม อนาคตไม่ได้ดีไปเสียทั้งหมด นางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟเคยเตือนไว้ในการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมที่สวิตเซอร์แลนด์ในเดือน ม.ค.ว่า เศรษฐกิจไม่ได้แย่อย่างที่บางคนกลัว “แต่แย่น้อยไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจดี เราต้องระมัดระวัง”
เมื่อวันจันทร์ ไอเอ็มเอฟเตือนถึงหลายปัจจัยที่อาจทำให้แนวโน้มเสื่อมถอยลงช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ได้แก่ การเปิดประเทศของจีนอาจหยุดชะงัก เงินเฟ้อยังสูง รัสเซียรุกรานยูเครนยืดเยื้ออาจสั่นสะเทือนราคาพลังงานและอาหารต่อไปอีก และตลาดอาจพลิกผันจากตัวเลขเงินเฟ้อที่แย่กว่าคาด
ไอเอ็มเอฟประเมินว่า 84% ของประเทศต่างๆ จะเจอเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงในปีนี้เทียบกับปี 2565 แต่เงินเฟ้อเฉลี่ยรายปี ปีนี้อยู่ที่ 6.6% ปี 2567 อยู่ที่ 4.3% ด้วยเหตุนี้นโยบายหลักอันหนึ่งที่ธนาคารกลางทั้งหลายยังต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งคือแก้ปัญหาราคาผู้บริโภคที่ยังพุ่งสูงต่อไป
“การสื่อสารจากธนาคารกลางที่ชัดเจนและการตอบโต้อย่างเหมาะสมต่อข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปจะช่วยรับมือความคาดหวังเงินเฟ้อลดแรงกดดันด้านค่าจ้างและราคา งบดุลธนาคารกลางต้องใช้อย่างระมัดระวัง ท่ามกลางความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของตลาด” ไอเอ็มเอฟระบุ