โอกาส - ความท้าทายการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลใน EEC
ปัจจุบันวงการแฟชั่นทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับเทรนด์เสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวแล้วคือ การพัฒนาเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิล (Textile Recycling)
ซึ่งตัดเย็บจากผ้าที่รีไซเคิลจากเศษผ้าเหลือของอุตสาหกรรมและสิ่งทอที่ใช้งานแล้ว เช่น H&M เพิ่มสัดส่วนการใช้เส้นใยรีไซเคิลจาก 1.4% ในปี 2561 เป็น 17.9% ในปี 2564 และตั้งเป้าผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิล 100% ภายในปี 2573 เป็นต้น
สำหรับไทย Krungthai COMPASS คาดว่ามูลค่าของตลาด Textile Recycling จะเติบโตราว 12%CAGR เป็น 1.3 พันล้านบาท ในปี 2575 จากปัจจุบันที่ราว 400 ล้านบาท โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสรักษ์โลก รวมถึงความเข้มงวดในมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ และ EU ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มหันมาผลิตเสื้อผ้าหรือเส้นใยรีไซเคิล สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ของกิจการผลิตเส้นใยรีไซเคิลในช่วงปี 2562-2565 มีจำนวน 7 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 736 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยหันมาผลิตเสื้อผ้าหรือเส้นใยรีไซเคิลยังมีความท้าทาย 3 ประการ คือ
1. ปัญหาความไม่แน่นอนของอุปทานเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล เนื่องจากไทยยังขาดระบบในการจัดเก็บ และคัดแยกขยะสิ่งทอแบบครบวงจร
2. ต้นทุน R&D และเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่กว่า 98% เป็น SMEs ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
3. ขาดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการใช้เสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิล
Krungthai COMPASS มองว่า ความท้าทายบางส่วนบรรเทาลงได้ หากผู้ประกอบการผลิตเส้นใยและผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลลงทุนในพื้นที่ EEC เนื่องจากมีโรงงานผลิตเส้นใยและเสื้อผ้ากว่า 340 แห่ง จึงช่วยลดความไม่แน่นอนของวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเส้นใย และเสื้อผ้ารีไซเคิล ประกอบกับทำเลของ EEC มีความได้เปรียบด้านการขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงไปยังอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ จึงเอื้อต่อการนำเข้าเศษผ้าเก่าหรือเสื้อผ้าที่ใช้แล้วจากต่างประเทศผ่านท่าเรือแหลมฉบัง หรือผ่านชายแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งมีความพร้อมของสาธารณูปโภคและโครงข่ายคมนาคมที่ครอบคลุม นอกจากนี้ กิจการผลิตด้ายหรือผ้ายังได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างน้อย 3 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ตลอดจนยกเว้นอากรสำหรับสารเคมีที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการ R&D หรือการทดสอบที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี การลงทุนในกิจการผลิตเส้นใยรีไซเคิลใน EEC ยังต้องการความร่วมมือเชิงนโยบายระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ดังนั้น ภาครัฐควรมีการจัดทำ Roadmap ในการพัฒนาเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิล ควบคู่ไปกับการส่งเสริมองค์ความรู้ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอ ขณะที่ผู้ประกอบการควรสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์