สงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่าทำให้คู่ขัดแย้งขยายวง

สงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่าทำให้คู่ขัดแย้งขยายวง

ใกล้ครบรอบ 1 ปี “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าจะสงบสุข ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าวันที่ 24 ก.พ.2565 เป็นวันที่ช็อกโลก เมื่อกองทัพรัสเซียเคลื่อนกำลังบุกโจมตีตะวันออกของรัสเซีย และกินพื้นที่ของยูเครนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการถอยทัพในบางบริเวณ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสงครามครั้งนี้จะยุติลงเมื่อใด การวางกองกำลังและการปะทะกันยืดเยื้อมาจนกำลังจะครบรอบ 1 ปี สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะความสูญเสียของพลเรือนที่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในวงกว้าง หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นเกินบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์เป็นเวลานาน และทำให้หลายประเทศเกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงจนต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการปรับขึ้นตราดอกเบี้ยค่อนข้างแรง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคหลายประเทศมีกำลังซื้อลดลง และเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตัวเร่งภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ประเทศไทยได้รับผลกระทบไม่น้อยเมื่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งรัฐบาลต้องปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลจากลิตรละ 30 บาท ขึ้นมาเป็นลิตรละ35 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้ว่าในเดือน ก.พ.2566 จะปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลลงมา 2 ครั้ง รวม 1 บาท แต่เป็นการยากที่จะทำให้ราคาสินค้าปรับลดลงตามราคาน้ำมัน ถึงแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ยืนยันจะดูเรื่องนี้

สถานการณ์เศรษฐกิจปี2566 ประเทศไทยยังคงต้องติดตามความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ประเมินได้ลำบากว่าจะจบลงเมื่อใด เพราะรัสเซียคงไม่ยอมถอยโดยง่ายและยังคงรักษาดินแดนที่ยึดครองได้ไว้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ารัสเซียอาจมีการระดมกำลังทหารอีกครั้ง ในขณะที่ยูเครนยังมีความมุ่งมั่นที่จะยึดดินแดนของตัวเองคืน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นสงครามที่คาดเดาจุดสิ้นสุดได้ลำบาก ซึ่งหลายฝ่ายไม่ต้องการให้เป็นสงครามยืดเยื้อเหมือนสงครามหลายครั้งในอดีต ความยืดเยื้อที่ยาวนานเท่าใดยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ปะทะ รวมถึงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของคู่ขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าสงครามครั้งนี้ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด แต่สิ่งสำคัญที่ทุกประเทศควรให้ความร่วมมือ คือการควบคุมและจำกัดพื้นที่สงครามไม่ให้ขยายวงกว้างขึ้นเป็นสงครามขนาดใหญ่