'แคร์อีโคโนมี' ใส่ใจอย่างไรให้ได้เงิน

'แคร์อีโคโนมี' ใส่ใจอย่างไรให้ได้เงิน

อดีตผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม แนะเศรษฐกิจใส่ใจ (care economy) ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพดูแลผู้คน มาประยุกต์ในสังคมไทย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้น

หลายปีก่อนประเทศไทยมีการพูดถึงเศรษฐกิจใส่ใจ (care economy) ซึ่งเป็นแนวคิดตะวันตกที่รวมกันระหว่างการมองคุณค่าของคนที่ดำเนินชีวิต ดูแลคนที่รักที่ห่วงใยในครอบครัวแบบมีต้นทุนที่ไม่ได้รับการตอบแทน ไม่มีการจ่ายค่าแรง

วรรณา สุขศรีบูรณ์อำไพ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม เล่าถึงแคร์อีโคโนมี อ้างสถิติจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ใน 64 ประเทศ สรุปได้ว่า 16.4 ล้านชั่วโมงถูกใช้ไปในการดูแลผู้คนทุกๆวันโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ตัวเลขนี้หมายความว่ามีคน 2,000 ล้านคนที่ทำงานทุกวัน วันละ 8 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับค่าแรง ซึ่ง 3 ใน 4 เป็นแรงงานผู้หญิง

หากพิจารณาในบริบทเศรษฐศาสตร์มหภาค เทียบกับแค่แรงงานขั้นต่ำในประเทศตะวันตก ตัวเลขนี้เมื่อรวมกันทั้งปีจะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่รองจากสหรัฐและจีน ใหญ่กว่าญี่ปุ่น เทียบเท่าเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลก หรือ 9% ของจีดีพีโลก มูลค่า 11 ล้านล้านดอลลาร์

แม้แคร์อีโคโนมีเป็นแนวคิดตะวันตก แต่กลับพบได้ทั่วไปในสังคมไทยและอาเซียน เช่น ครอบครัวคนไทยที่มีลูกหลายคน ลูกคนใดคนหนึ่งต้องเสียสละดูแลพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็ง แม่ที่ป่วยติดเตียง ถ้าเขาเป็นลูกคนท้ายๆ เท่ากับว่า อายุยังไม่มาก อาจเรียนจบปริญญาโทแต่ต้องมาดูแลพ่อแม่ ต้นทุนของเขาคือ

1) เงินเดือนที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นทุกปี คูณจำนวนปี

2) ต้นทุนทางจิตใจ ความเครียดที่ต้องอยูกับผู้ป่วย เกิดความขัดแย้งกับพี่น้อง

3) ขาดการอบรมทักษะใหม่ๆ

4) ขาดสังคม ไม่มีเพื่อน ขาดเครือข่าย

เท่ากับว่าคนที่ต้องรับหน้าที่นี้ต้องมีต้นทุนมหาศาล เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตไปบางคนโชคดีกลับมาทำงานใหม่ได้ แต่บางคนกลับมาไม่ได้กลายเป็นซึมเศร้า เป็นภาระครอบครัว

หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง เช่น พ่อแม่จบการศึกษาสูง เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ลูกเป็นเด็กพิเศษ ถ้าป่วยหนัก โรงเรียนที่จะฝึกเด็กกลุ่มนี้มีไม่มาก ยิ่งเป็นครอบครัวสมัยใหม่มีแค่พ่อ แม่ ลูก ถ้าวันไหนครูมีเหตุต้องไปอบรม แม่ก็ต้องลางานรับลูกมาดูแลเองที่บ้าน ถ้าหาโรงเรียนไม่ได้แม่อาจต้องลาออกจากงานมาดูแลลูกนับสิบปี สูญเสียรายได้ สังคมสูญเสียโอกาสที่จะได้ผลงานสร้างสรรค์แม่เพราะส่วนใหญ่พ่อต้องเป็นฝ่ายทำงานต่อไป ซึ่งแม่อาจจะเกิดความเครียดหนักเข้าอาจถึงขั้นหย่าร้าง กลายเป็นว่าแม่ไม่มีรายได้ ที่สำคัญคือหากพ่อแม่จากไปแล้วลูกจะอยู่อย่างไร

เหล่านี้คือตัวอย่างเล็กๆ ที่แต่ละครอบครัวน่าจะมีคนให้สมาชิกครอบครัวคอยดูแลกรณีใดกรณีหนึ่ง หากนำแคร์อีโคโนมีมาประยุกต์ วรรณามองว่า น่าจะมีการสร้างเครือข่ายชุมชนสลับกันดูแล ทำระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวก ราคาถูก เพื่อให้ต้นทุนการเดินทางไปโรงพยาบาลไม่สูงมาก ที่สำคัญคือการทำให้การดูแลแบบนี้กลายเป็นเม็ดเงินขึ้นมา

\'แคร์อีโคโนมี\' ใส่ใจอย่างไรให้ได้เงิน

“ถ้าคนไทยทำงานการดูแลได้ดีทำไมเราไม่ผลิตพยาบาล หรือ health care worker แล้วส่งออกไปดูแลคนนอกประเทศ คล้ายๆ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ที่เขาส่งออกพยาบาลหรือผู้ดูแล”

วรรณาตั้งคำถามพร้อมยกตัวอย่างผู้สูงวัยหลายคนมีความสามารถ ไม่ควรถูกจำกัดว่าเป็น “คนแก่” ไทยควรส่งออกคนวัย 60 ที่แข็งแรงไปเป็นแม่ครัวร้านอาหารไทยทั่วโลก เป็นหมอนวดฝีมือดีซึ่งค่าตัวแพงมาก

ในเมื่อแคร์อีโคโนมีแทรกอยู่ในสังคมไทยและอาเซียนแทบทุกอณู ดังนั้นการจะเอาจริงเอาจังเพื่อทำเงินเข้าประเทศ วรรณาเสนอว่าควรสร้างหลักสูตร passion management สำหรับเด็กมัธยม ดูว่าเด็กอยากเป็นอะไร เด็กบางคนอาจจะอยากเป็นนักจิตวิทยาแต่เรียนไม่เก่ง เขาอาจเป็นผู้จัดการส่วนตัวที่เก่ง ให้คำปรึกษาจัดการงานง่ายๆ ฉับพลันได้ดี แล้วแต่ความชอบของเด็ก

หน้าที่ตรงนี้อยู่ที่โรงเรียนที่ต้องมีระบบแนะแนวที่ดีให้เด็กรู้จักตนเอง รู้จักความชอบ (passion) รู้ว่าอยากทำอะไร อยากอยู่ที่ไหนในโลก และต้องรู้จักเรื่องสิทธิตั้งแต่เด็ก เช่น รู้จักการเข้าคิว การรีไซเคิลขยะ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิในการดูแลกันและกัน ความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลพ่อแม่พี่น้อง

“หัวใจสำคัญของแคร์อีโคโนมีคือต้องรู้จักตัวเองก่อน เพราะถ้าไม่รู้จักตัวเองคงไปแคร์คนอื่นไม่ได้ รู้จักสิทธิของตนเองและผู้อื่น ต้องเปิดใจว่าการดูแลไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายก็ทำได้ ต้องมีความเท่าเทียมกันในรายได้ของหญิงและชาย พนักงานขับรถไม่กี่ชั่วโมงทำไมรายได้ถึงสูงกว่าคนที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ที่บ้านมาก ควรมีการสอนในมหาวิทยาลัยให้ผู้เรียนได้ทราบว่าตนมีส่วนร่วมในการสร้างจีดีพีของประเทศ ภาคเอกชนรณรงค์ให้การใส่ใจดูแลกันและกันถือเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง” ผู้เชี่ยวชาญสรุปถึงแนวทางของเศรษฐกิจใส่ใจ ทำการดูแลรับผิดชอบผู้อื่นให้กลายเป็นเม็ดเงินสร้างการเติบโตให้กับประเทศ