ทำไมต้นทุนหมูไทย ‘แพงกว่า’ หมูเถื่อนจากยุโรป ทั้งที่ค่าครองชีพไทยต่ำกว่า
เจาะสาเหตุที่แท้จริงว่า เหตุใดต้นทุนการเลี้ยงหมูไทยถึง “แพงกว่า” หมูเถื่อนจากแถบยุโรปทั้งที่ค่าครองชีพในไทยต่ำกว่า จนเกิดกรณีหมูเถื่อนจำนวนมากทะลักเข้าไทย
Key Points
- ไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเกือบ 3 ล้านตันต่อปีในการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากผลิตถั่วเหลืองได้ประมาณปีละ 2-3 หมื่นตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
- ต้นทุนการเลี้ยงหมูมีชีวิต 1 ตัว (100 กิโลกรัม) เป็นส่วนอาหารสัตว์ราว 5,000 บาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 65% มีค่าบริหารจัดการ 15% และเวชภัณฑ์ป้องกันโรคหมูอีก 10%
- ความต่างระหว่างหมูเถื่อนกับหมูไทย คือ ลักษณะเนื้อหมูเถื่อนจะอ่อนเปื่อย สีคล้ำ เพราะผ่านการแช่เย็นมานาน ขณะที่เนื้อหมูของไทยยังคงสด และมีสภาพดีทั้งวัน
ปัญหา “หมูเถื่อน” อันอื้อฉาวที่ทะลักเข้าไทยเมื่อไม่นานนี้ โดยมีการลักลอบขนมาทางเรือเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้/เดือน และสำแดงเท็จว่าเป็นอาหารทะเลหรือเม็ดพลาสติกเข้ามา แต่ภายในกลับเป็นหมูเถื่อนที่ไม่ได้เข้าประเทศมาอย่างถูกกฎหมาย จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ไม่เข้มงวดมากพอหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปที่สาเหตุจริง ๆ จะพบว่า แรงจูงใจการนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาจำนวนมากเกิดขึ้นจาก ต้นทุนการเลี้ยงหมูไทย “สูงกว่า” หมูเถื่อนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะหมูจากโซนยุโรปอย่างเยอรมนี อิตาลี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ทั้งที่ประเทศเหล่านี้มีค่าครองชีพที่สูงกว่าไทย แต่สามารถทำต้นทุนการเลี้ยงหมูให้ต่ำกว่าไทยได้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
- สาเหตุแรก ต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ไทยแพง
ในการเลี้ยงหมู อาหารหลักของหมูคือ ข้าวโพดซึ่งถูกใช้มากที่สุด รองลงมาเป็นกากถั่วเหลือง แต่วัตถุดิบของไทยเหล่านี้กลับ “แพงกว่า” ต่างประเทศ
“สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้คร่ำหวอดในวงการเลี้ยงหมูโดยตรงได้ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ข้าวโพดไทยอยู่ที่ราว 9-10 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ในต่างประเทศอยู่ที่ราว 5-6 บาท/กิโลกรัม อีกทั้งผลผลิตข้าวโพดไทยก็ไม่เพียงพอด้วย จึงนำเข้าจากต่างประเทศราว 60% และมาจากในประเทศราว 40%
ในส่วนถั่วเหลือง ไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเกือบ 3 ล้านตันต่อปีในการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากไทยผลิตถั่วเหลืองได้ประมาณปีละ 2-3 หมื่นตัน จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ
สิทธิพันธ์เสริมต่อว่า อันที่จริง รัฐบาลไทยไม่ควรอาศัยการประกันราคาสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน เมื่อราคาตกต่ำ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปอุ้มราคาอีกเรื่อย ๆ ควรหันมาเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเหล่านี้มากขึ้น ลงทุนวิจัยสายพันธุ์พืชใหม่ และผ่อนคลายข้อห้ามการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ให้สามารถทำได้ เพื่อสร้างพืชเกษตรที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรค แมลงและดินฟ้าอากาศด้วย
“ดูอย่างกรณีข้าวเวียดนาม มีการพัฒนาสายพันธุ์กันอย่างต่อเนื่อง ลงทุนเงินเท่านี้ ให้ผลผลิตมากถึง 1,000-1,500 กิโลกรัม/ไร่ แต่สำหรับไทย ลงทุนใกล้เคียงกัน แต่ให้ผลผลิตเพียง 500-800 กิโลกรัม/ไร่ แล้วจะสู้ข้าวเวียดนามได้อย่างไร” สิทธิพันธ์กล่าวเปรียบเทียบ
- สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ -
- สาเหตุที่ 2 ตะวันตกไม่นิยมบริโภคเครื่องใน-หมูติดมัน
ขณะที่คนไทย รับประทานเกือบทุกส่วนของหมู แต่สำหรับชาวตะวันตก สิทธิพันธ์กล่าวว่า พวกเครื่องใน สองกีบที่เท้าหมูหรือคากิ ฝรั่งเขาไม่รับประทานกัน แต่มักจะรับประทานพวกเนื้อแดง เนื้อสัน และเนื้อสะโพกแทน ส่วนเนื้อสามชั้น ฝรั่งรับประทานไม่มาก
ดังนั้น พวกเครื่องใน คากิและเนื้อหมูติดมันที่ล้นเกิน จึงระบายออกสู่ตลาดต่างประเทศในราคาถูก ดีกว่าปล่อยทิ้งให้เน่าเสีย นี่จึงทำให้หมูเถื่อนจากยุโรปมีราคาถูกกว่าไทย
- สาเหตุที่ 3 โรคระบาด ASF ทำให้อุปทานหมูเหลือน้อย
ในปัจจุบัน ไทยไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) แล้ว แต่เมื่อช่วงที่โรคนี้เคยปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ข้ามมายังต้นปี 2565 ทำให้ประชากรหมูหายไปเป็นจำนวนมาก ราคาเนื้อหมูไทยในขณะนั้นพุ่งสูงทะลุ 200 บาทต่อกิโลกรัม
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ว่า โรคระบาดดังกล่าวเกิดจากไวรัสแอสฟาร์ (Asfravirus) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและควบคุมโรค
หมูที่ติดโรค ASF จะมีอาการหายใจลำบาก เบื่ออาหารกะทันหัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดหรือรอบช้ำบริเวณใบหู ท้องและขาหลัง จนถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน
เนื่องจากเชื้อนี้ฝังตัวได้นานเป็นเวลาหลายเดือน ฟาร์มหมูใดที่ติดเชื้อแล้ว จึงจำเป็นต้อง “พักคอก” โดยไม่มีหมูในคอกเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ตามคำแนะนำจากกรมปศุสัตว์
ในระหว่างการพัก ก็ต้องตรวจเชื้อเป็นระยะว่า ยังมีเชื้อฝังอยู่อีกหรือไม่ หากยังมี ก็อาจทำให้ระยะการพักยืดต่อเป็นเวลาหลายเดือน
สาเหตุที่ต้องพักยาวขนาดนี้ เป็นเพราะการพ่นยาไม่สามารถกำจัดเชื้อทั้งหมด เชื้อได้ฝังอยู่ตามผนัง ซอกมุม และดินที่หมูเหยียบแล้ว ดังนั้น ต้องทิ้งระยะเวลานานพอจนแน่ใจว่าปลอดภัยจริงถึงจะเลี้ยงหมูต่อได้ นี่จึงทำให้ผลผลิตหมูร่วงลงอย่างหนัก หากเกิดโรคระบาดนี้ขึ้น
- เนื้อหมูไทยกับหมูเถื่อนแตกต่างกันอย่างไร
ประเด็นความแตกต่างระหว่างเนื้อหมูเถื่อนจากต่างประเทศกับเนื้อหมูไทยนั้น สิทธิพันธ์กล่าวว่า ถ้ามองเพียงผิวเผินอาจแยกไม่ออก แต่มีความต่างคือ เนื้อหมูเถื่อนต้องผ่านการแช่เย็นในระหว่างการขนส่งทางไกล ข้ามน้ำข้ามทะเลมา เมื่อนำออกจากตู้แช่จนความเย็นเริ่มจางลง จะค่อย ๆ เห็นลักษณะเนื้อที่อ่อนเปื่อย สีคล้ำและไม่ค่อยน่าดู เพราะผ่านการแช่เย็นมานาน และในหลายครั้งก็เป็นหมูที่ใกล้หมดอายุด้วย ต่างจากเนื้อหมูของไทยที่ยังสด และคงสภาพดีทั้งวัน
อีกประการคือ “สารเร่งเนื้อแดง” หมูเถื่อนที่มาจากแถบยุโรปไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง เพราะมีข้อห้ามเหมือนไทย แต่ถ้าเป็นเนื้อหมูจากสหรัฐและแถบละตินอเมริกา อย่างเม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา ฯลฯ มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงเป็นปกติ นี่จึงเป็น “ข้อระวัง” สำหรับหมูเถื่อนที่หากมาจากประเทศเหล่านี้
- หมูเถื่อนแช่เย็น -
- เลี้ยงหมู 1 ตัว มีต้นทุนเท่าไร
ในการฟูมฟักหมู 1 ตัวตั้งแต่เกิดไปจนถึงส่งขายได้ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติให้ข้อมูลว่า ใช้เวลาเลี้ยงราว 5-6 เดือน จนได้น้ำหนักมาตรฐานที่ 100 กิโลกรัม โดยต้นทุนการเลี้ยงหมูมีชีวิต 1 ตัว (100 กิโลกรัม) เป็นอาหารสัตว์ราว 5,000 บาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 65% และเมื่อรวมค่าบริหารจัดการ 15% และเวชภัณฑ์ป้องกันโรคหมูอีก 10% ก็จะทำให้ต้นทุนเลี้ยงหมูทั้งหมดเป็น 7,800-8,200 บาทต่อหมู 1 ตัว
ต่อจากนั้น คนเลี้ยงก็จะส่งหมูให้โรงเชือดของเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งโรงเชือดจะคิดเพียงค่าชำแหละหมู จากนั้นเนื้อหมูก็ถูกส่งต่อไปยังร้านจำหน่ายต่าง ๆ ทั้งค้าส่งและค้าปลีกต่อไป
จะเห็นได้ว่า กว่าหมู 1 ตัวจะโตเต็มที่จนส่งขายได้ มี “ต้นทุนอาหาร” เป็นหลักมากถึง 65% การที่พืชเลี้ยงสัตว์ของไทยแพงกว่าและให้ผลผลิตต่อไร่สู้ต่างประเทศไม่ได้ จึงทำให้ต้นทุนหมูไทยแพงขึ้น อีกทั้งชาติตะวันตกไม่ค่อยรับประทานเครื่องในและเนื้อหมูติดมัน จึงระบายเนื้อส่วนเหล่านี้ในราคาถูก
นอกจากนั้น โรคระบาดหมูอันน่ากลัวอย่าง ASF สามารถทำให้ประชากรหมูลดฮวบจนเกิดวิกฤติ “ขาดแคลนเนื้อหมู” ได้ ทางภาครัฐอาจจำเป็นต้องเร่งป้องกันโรคเชิงรุก รวมถึงเพิ่มงบประมาณการวิจัยในพันธุ์พืชสำหรับอาหารสัตว์ เพื่อสร้างสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และช่วยลดต้นทุนการปลูกจนสามารถแข่งขันด้านราคากับหมูต่างประเทศได้
อ้างอิง: foodsafety, กรุงเทพธุรกิจ