ราคาน้ำมันดิบ พุ่ง 1.49% ปิดรอบสัปดาห์สูงสุดตั้งแต่ พ.ย. 66
ราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่ง 1.49% แตะ 79.19 ดอลลาร์ ปิดรอบสัปดาห์สูงสุดตั้งแต่ พ.ย. 66 เหตุตลาดกลับมากังวลปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) งวดส่งมอบเดือนมี.ค. ปิดบวก 1.16 ดอลลาร์ หรือ 1.49% พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 79.19 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) งวดส่งมอบเดือนเม.ย. ปิดบวก 61 เซนต์ อยู่ที่ 83.47 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังตลาดกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลางรอบใหม่ว่าอาจรุนแรงและบานปลายขึ้น
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อิสราเอล ได้เข้าถล่มพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอนเพื่อตอบโต้ที่กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ยิงขีปนาวุธเข้ามาโจมตี ทำให้กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่านประกาศจะโจมตีกลับเพื่อล้างแค้น
ขณะที่สถานการณ์ในเมืองราฟาห์ ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของฉนวนกาซาที่มีประชากรชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าล้านคน ก็ยังคงคุกรุ่น หลังจากอิสราเอลประกาศจะยังคงเดินหน้าโจมตีกลุ่มติดอาวุธฮามาสในเมืองนี้ต่อไป ทำให้ความสัมพันธ์กับอียิปต์ที่มีพรมแดนติดกับเมืองนี้โดยตรงทวีความตึงเครียดไปด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ ตลาดน้ำมัน WTI ปิดรอบสัปดาห์บวกไป 3% และเป็นการปิดรอบสัปดาห์ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2566 เป็นต้นมา ในขณะที่ตลาด Brent ปิดรอบสัปดาห์บวกไป 1.5% และเป็นการปิดรอบสัปดาห์ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567
ก่อนหน้านี้ภายในวันเดียวกันก่อนปิดตลาด ราคาน้ำมันดิบเพิ่งเคลื่อนไหวในเชิงลบหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันโลกจะมีการขยายตัวที่อ่อนแอในปีนี้ โดยการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในช่วงหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มชะลอตัวลงแล้ว
ทั้งนี้ IEA เปิดเผยรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนก.พ. โดยระบุว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะมีการขยายตัวเพียง 1.2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2567 ลดลงเกือบ 50% จากที่มีการขยายตัว 2.3 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2566
นอกจากนี้ IEA คาดการณ์ว่า อุปทานน้ำมันจะอยู่สูงกว่าอุปสงค์ โดยจะขยายตัว 1.7 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ บราซิล แคนาดา และกายอานา
"เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และการที่ปริมาณน้ำมันคงคลังในระดับโลกอยู่ในระดับต่ำ การมีน้ำมันส่วนเกินจำนวนเล็กน้อยจะช่วยลดความผันผวนในตลาด" รายงานระบุ
รายงานของ IEA ดังกล่าวสวนทางรายงานของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งระบุว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะมีการขยายตัว 2.2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2567 ขณะที่ประเทศนอกกลุ่มโอเปกมีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเพียง 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมัน ถูกกดดัน หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาด
นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมทั้งการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาด