เศรษฐกิจไทยทรุด! โรงงานไทยปิดตัวเฉียด 2,000 แห่ง สู้สินค้าถูกจากจีนไม่ได้

เศรษฐกิจไทยทรุด! โรงงานไทยปิดตัวเฉียด 2,000 แห่ง สู้สินค้าถูกจากจีนไม่ได้

สัญญาณเตือนเศรษฐกิจไทย! โรงงานแห่ปิดตัวพุ่งเกือบ 2,000 แห่ง ฉุดรั้ง GDP ให้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปราะบาง และต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ตอนต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัท “BYD” ผู้ผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีน ได้เปิดโรงงานแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ประเทศไทย ส่งผลให้ไทยได้รับความสนใจจากต่างประเทศ และคำชมเชยในวิสัยทัศน์ด้านอุตสาหกรรม

ทว่า สิ่งที่ได้รับความสนใจน้อยกว่านั้นคือ การประกาศจาก “ซูซูกิ มอเตอร์” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่า จะปิดโรงงานในไทย ซึ่งเคยผลิตรถยนต์ได้มากถึง 60,000 คันต่อปี

การตัดสินใจของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้ สะท้อนถึงบริษัทอื่นๆ อีกหลายสิบแห่งในไทย ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาการทะลักของสินค้า และรถยนต์ราคาถูกจากจีน และความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมที่ลดลง รวมถึงราคาน้ำมันก็สูงขึ้น และแรงงานที่กำลังเกษียณอายุ

ไม่นานมานี้ โรงงานในไทยมีการปิดตัวเกือบ 2,000 แห่งในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เกือบหนึ่งในสี่

จันทร์เพ็ญ ซื่อตรง วัย 54 ปี ทำงานอยู่ที่โรงงานกระจกนิรภัย V.M.C. ในจังหวัดสมุทรปราการ มาเกือบ 20 ปี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ออกจากสายการผลิต 

เธอได้รับแจ้งอย่างไม่คาดคิดในเดือนเมษายนว่า ทางโรงงานจะปิดตัวลงจนทำให้เธอตกงาน

“ฉันไม่มีเงินเก็บเลยสักบาทเดียว แต่กลับมีหนี้เป็นแสน” จันทร์เพ็ญ หัวหน้าครอบครัวคนเดียวของบ้านที่มีสมาชิก 3 คน ซึ่งรวมถึงสามีที่ป่วย และลูกสาวที่ยังวัยรุ่น “ฉันแก่แล้ว ฉันจะไปทำงานที่ไหน ใครจะรับฉันเข้าทำงาน”

ปัญหาในภาคการผลิตดังกล่าว จนโรงงานในไทยปิดตัวหลายแห่ง ทำให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว เผชิญความท้าทายในการสร้างการเติบโตของ GDP เฉลี่ยต่อปีให้ถึง 5% ตลอดระยะเวลา 4 ปีของเขา 

“ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง และกำลังการผลิตก็ลดลงต่ำกว่า 60% เห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัว” เศรษฐากล่าวในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า รูปแบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการผลิตของไทยที่มีมานานหลายทศวรรษนั้นพังทลายแล้ว โดยตอนนี้จีนกำลังส่งออกสินค้าไปทั่วทุกทิศทาง สินค้าเหล่านี้มีราคาถูก จนสร้างปัญหาให้กับภาคการผลิตของไทย

ดร.ศุภวุฒิ เสริมว่า ไทยต้องเปลี่ยนแปลง โดยควรหันไปมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่จีนไม่ได้ส่งออก ขณะเดียวกันก็ต้องเสริมสร้างภาคการเกษตรกรรมของไทยอย่างไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังไม่เคยมีการรายงานมาก่อน ระบุว่า การปิดโรงงานในไทยระหว่างเดือนกรกฎาคม 2566 ถึง มิถุนายน 2567 เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้า ส่งผลให้จำนวนผู้ตกงานเพิ่มขึ้นถึง 80% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีแรงงานกว่า 51,500 คนตกงาน

ขณะเดียวกัน แผนกวิจัยของธนาคารเกียรตินาคินภัทรระบุว่า จำนวนการเปิดโรงงานใหม่ก็ลดลงเช่นกัน โดยโรงงานขนาดใหญ่ปิดตัวลง ขณะที่โรงงานขนาดเล็กกลับเปิดดำเนินการแทน อีกทั้งผลกระทบดังกล่าวยังลุกลามไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME กล่าวว่า ผู้ผลิตขนาดเล็กกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น และค่าแรงที่ค่อนข้างสูง ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ ผู้ผลิตที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องปิดกิจการหรือเปลี่ยนไปผลิตอย่างอื่นแทน

นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า กลุ่มของเขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางป้องกันการเลี่ยงภาษีขาเข้า ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน 
เบื้องต้น คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตเพียงประมาณ 2.5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจในผลงานของนายกฯเศรษฐา

เศรษฐาได้แย้งว่าโครงการแจกเงิน 5.6 แสนล้านบาท เป็นที่ถกเถียง และล่าช้าของพรรคของเขานั้นเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย รวมถึงจากธนาคารกลางด้วยก็ตาม “นี่จะเป็นยาแรงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ”

ขณะที่จันทร์เพ็ญซึ่งไม่มีรายได้ประจำ กล่าวว่า “รอรับเงินแจก 10,000 บาท ซึ่งคนไทย 50 ล้านคนจะได้รับตามโครงการ” อีกทั้งเธอเสริมว่า “เศรษฐกิจไทยแย่ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน พอมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็ยังไม่ดีขึ้นเลย”


อ้างอิง: Reuters

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์