ภารกิจด่วนบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์หญิงแกร่ง"เมย์แบงก์กิมเอ็ง"
เปิดงานใหญ่ นิด บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ ซีอีโอหญิงเก่เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ที่ต้องเร่งกำจัดจุดอ่อนแบบด่วนที่สุด .."แกนนำขายหุ้นไอพีโอเท่านั้น
“ทำไมไม่เคยได้หุ้นไอพีโอเลย ?” คำถาม "ฮอตฮิต" ที่เหล่านักลงทุนที่เปิดพอร์ตซื้อขายหุ้นผ่าน บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET แชมป์โบรกเกอร์อันดับ 1 ติดต่อกันกว่าทศวรรษ (11 ปีซ้อน ส่วนแบ่งการตลาด 11.86%) จี้ถามผู้บริหาร กลายเป็น “จุดตำหนิ” ที่ทั้ง “เปี๊ยก” มนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “นิด” บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย รู้ดี และพยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดจุดอ่อนนั้น อาทิ การเปิดตัวนักกลยุทธ์ลงทุน อย่าง "ป๋อง" สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานวิจัยหลักทรัพย์คนใหม่ เจ้าของรางวัล The best strategist สายนักลงทุนรายย่อย ประจำปี 2551 2552 และปี 2554 จากสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ มาเสริมทัพ
“กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” นัด “นิด” บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ เพื่อบอกเล่าความในใจ ณ อาคารสำนักงาน ดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 21 ภายในห้องทำงานเล็กๆ ของ “หญิงแกร่ง” ผู้นี้ เต็มไปด้วยถ้วยรางวัลมากมาย ที่ไม่ได้มาจากการแข่งขันกีฬาที่ไหน แต่ล้วนเป็นรางวัลที่ได้จากการบริหารองค์กร ไม่เว้นแม้แต่รางวัล Asset Triple A Country Award 2012 ที่เพิ่งบินไปรับสดๆ ร้อนๆ ที่ประเทศฮ่องกง ในฐานะโบรกเกอร์ดีเด่นประจำประเทศไทย
บุญพร ย้อนประวัติชีวิตให้ฟังว่า ทันทีที่เรียนจบปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เรียนต่อปริญญาโท สาขาคณิตศาสตร์และสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียนจบก้าวสู่อาชีพแรกในชีวิตด้วยการเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในสาขาคณิตศาสตร์และสถิติ เรียกว่าตรงสาขาที่เรียนมาเป๊ะ
"ทำงานได้ 6-7 ปี (ระหว่างปี 2524-2530) ก็เริ่มรู้สึกเบื่อ พี่เลยลาออกย้ายตัวเองไปทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อรายใหญ่ ทำได้สัก 2 ปี ก็ลาออกไปทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย จำกัด (บริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพ) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบล.แอสเซท พลัส"
ถามว่าทำไมถึงเปลี่ยนฟิวส์ เธอเล่าว่า...ตอนโน้น บล.เอเซีย อยู่ตึกเดียวกับแบงก์กรุงเทพ ย่านสีลม วันหนึ่งพี่ลงลิฟต์จะลงไปข้างล่าง ประตูลิฟต์ดันเปิดชั้น 14 พี่ตกใจมาก ตรงหน้ามีคนมากมาย คิดในใจ “เขามาทำอะไรกัน” พี่ย่องไปแอบดู ถึงรู้ว่าคนเหล่านี้ คือ “นักลงทุน” พอรู้ว่า บล.เอเซีย เขารับสมัครพนักงาน พี่ไม่รีรอเดินไปเขียนใบสมัครทันที ตอนนั้นรู้สึกเบื่องานสินเชื่อเต็มทน วันๆ ไม่ได้ทำอะไร เขียนแต่เปเปอร์ ชักจะไม่สนุก
ตอนไปสมัคร เขาอยากให้ทำงานด้านบทวิเคราะห์ แต่พี่ไม่อยากทำ เพราะสนใจงานด้านการลงทุนมากกว่า อยากเจอลูกค้า ถือเป็นการเปลี่ยนบทบาท และนี่คือ “จุดเริ่มต้น” ในแวดวงการเงินอย่างเต็มตัว ช่วงนั้นน่าจะปี 2532 ทำงานไปสักพักเริ่มรู้สึกตัวเองว่า “เรายังรู้เรื่องการเงินแค่ผิวเผิน” พี่เลยตัดสินใจเรียนปริญญาโท สาขาการเงิน ต่ออีก 1 ใบ ปริญญาใบนี้เรียนตอนแก่แล้ว (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่ทำงานทุกวันก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ตอนนั้นพี่คิดว่า อย่างน้อยก็ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น เหมือนสุภาษิตที่ว่า..“ไม่มีใครแก่เกินเรียน"
“คุณแม่ลูกหนึ่ง” เล่าต่อว่า ชีวิตพี่เดินทางมาสู่ช่วงพลิกผันอีกรอบ เมื่อต้องย้ายบ้านไปอยู่แถวเมืองเอก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งบ้านกับที่ทำงานไกลกันมาก เริ่มรู้สึกไม่ไหวล่ะ พี่ตัดใจลาออกทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรต่อ วันหนึ่งมีเสียงโทรศัพท์จากเพื่อนในแวดวงการเงิน โทรมาชวนไปทำงานด้วยกัน เพื่อนบอกว่า “จะปล่อยชีวิตนั่งๆ นอนๆไปทำไม” พี่บอกเพื่อนไปว่า “ออฟฟิศไกลไม่ไหว” เพื่อนสวนกลับทันที “ไม่ต้องห่วงเรามีสาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน” พี่เห็นว่าใกล้บ้านเลยตกลงรับงาน
ช่วงนั้นน่าจะปี 2536 พี่เข้าไปทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นิธิพัฒน์ จำกัด พอเข้ามาทำงานไม่นาน ดันเกิดวิกฤติ "ต้มยำกุ้ง" ปี 2540 ตอนนั้นบริษัทแยกธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ออกไป ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ก็ถูกขายทอดตลาด ซึ่งทาง บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประมูลได้ ตั้งแต่นั้นมาก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บล.กิมเอ็ง” เมื่อปี 2542 ก่อนจะเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 2554 เป็นกลุ่มเมย์แบงก์ ประเทศมาเลเซีย
เธอ เล่าว่า เริ่มทำงานใน บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานลูกค้าหลักทรัพย์ในประเทศไทย 1 ในปี 2541 ก่อนจะขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายลูกค้าหลักทรัพย์ในประเทศ 1 ในปี 2546 จากนั้นก็เปลี่ยนมาทำตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547 เรียกว่าทำมาตั้งแต่แรก ทำให้เข้าใจวัฒนธรรม ระบบการทำงาน เราทำงานกันเป็นครอบครัว พี่รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นองค์กรขยายตัว และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตนั้น ฉะนั้นไม่ว่าข้างนอกจะแย่งตัวกันยังไง แต่บริษัทของเราแทบไม่มีปัญหาเรื่องนี้
ถามถึงภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ? “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย” บอกว่า เรากำลังปฏิบัติการ “กำจัดจุดอ่อน” โดยเฉพาะธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment Banking -IB) พี่ยอมรับว่าที่ผ่านมา เราไม่มีความแข็งแรงในหน่วยงานนี้ อย่างปี 2555 บริษัทไม่ได้เป็นแกนนำผู้จัดจำหน่ายหุ้น (Lead Underwriter) สัดส่วนรายได้มีเพียง 3% เท่านั้น
พี่เกรงว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป มีหวังนักลงทุนหายหมด เห็นได้จากเสียง “บ่นพึมพำ” จากนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ของเรา ส่วนใหญ่จะถามว่า “ทำไมเราถึงไม่ได้หุ้นไอพีโอบ้าง” ทุกครั้งที่ได้ยินคำถามนี้ พี่หนักใจมาก คิดตลอดต้องรีบจัดการปัญหา พี่เข้าใจนะว่าทำไมนักลงทุนถึงถามหาหุ้นไอพีโอ ก็เพราะช่วงนี้มัน “ฮอต” ให้ผลตอบแทนสูงถึง 100%
ตอนนี้ทีมงานกำลังพยายามปั๊มหุ้นไอพีโอกันอยู่ จริงๆ หน้าที่และความรับผิดชอบหลักในส่วนนี้เป็นของ “มนตรี ศรไพศาล” แต่ตอนนี้ทุกคนต้องช่วยกันทำแล้ว เราทุกคนพยายามสู้ช่วงนี้ก็ “สปีด” กันสุดฤทธิ์ ช่วยกันหาผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อต้นปี 2556 เราก็เข้าไปเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้น พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ค่อยยังชั่ว !!! (ถอนหายใจ) อย่างน้อยก็ได้แตะๆ บ้าง
หลายคนถามว่าเป็นตัวแทนจำหน่าย “ทำไมหุ้นยังไม่ถึงมือลูกค้าบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” ประเด็นนี้ต้องเข้าใจว่าหุ้นมีจำนวนน้อย ปัจจุบันเรามี 5-7 ดีล ที่เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนอสังหาริมทรัพย์
ถามถึงวิธีการรักษาตำแหน่งแชมป์โบรกเกอร์อันดับ 1 ให้ยาวนาน? เธอ บอกว่า วิธีรักษาความเป็นที่ 1 ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญจะต้องรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยในการทำธุรกิจ ข้อแรก คือ เรื่องของระบบต้องรวดเร็ว รองลงมาเป็นเรื่องบทวิเคราะห์ ต้องแม่นยำและว่องไว อีกข้อที่มีส่วนสำคัญมากเหมือนกัน คือ เรื่องมาร์เก็ตติ้ง (IC) ต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา
เรามีบริการหลากหลาย แถมมีสาขาทั้งหมด 45 แห่งสาขา (ไม่รวมสาขาใหญ่) แบ่งเป็นในกรุงเทพ 27 แห่ง ต่างจังหวัด 18 แห่ง เรามีฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง 738 คน รวมพนักงานฝ่ายอื่นๆ ก็ปาเข้าไป 1,082 คน และยังมีลูกค้ากว่า 1 แสนราย หากลงรายละเอียดจะพบว่า เรามีรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มากถึง 90% ดอกเบี้ยรับ 5% และรายได้จากวาณิชธนกิจ 3%
ในช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา เรามีมาร์เก็ตแชร์มากถึง 12.5% แบ่งเป็นนักลงทุนบุคคลในประเทศ (รายย่อย) 17% จริงๆ แล้ว ไม่อยากเรียกนักลงทุนรายย่อยเท่าไร เพราะนักลงทุนบ้านเราไม่ค่อยจะย่อยเลย (หัวเราะ) นักลงทุนสถาบันในประเทศ 4-4.5% นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 2-2.5% ดูจากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่านักลงทุนสถาบันในและนอกประเทศมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ฉะนั้นเรามีแผนจะเน้นส่วนนี้มากขึ้น อยากเห็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศมีสัดส่วน 5% แต่จะเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้เป็นเพียงการตั้งเป้าหมายเท่านั้น
“บุญพร” ทิ้งท้ายว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2556-2558) เรามอง 4-5 ปัจจัยหลักๆ ที่อาจมีผลต่อตลาดหุ้นไทย ข้อแรก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนตัวเชื่อว่าได้ผ่าน “จุดต่ำสุด” ไปแล้ว 2.การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และภาวะเงินเฟ้อ 3.การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 4.การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ข้อสุดท้ายคือ การเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน พี่เชื่อว่ายังคงเติบโตปีละ 10-15% ส่วนกรอบดัชนีปี 2556 อาจยืน 1,250-1,550 จุด
“การลงทุนมีความเสี่ยง !!! ไม่ว่าคุณจะลงทุนทำอะไร ฉะนั้นต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ต้องรู้จักตัวตนของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน ว่าเขาเป็นใครทำธุรกิจอะไร คู่แข่งมีใครบ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์อย่างรอบคอบ “อย่ามองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องดีทุกครั้ง เพราะบางครั้งตอนจบอาจเป็นหนังคนละม้วนก็ได้”