URBIE โลกของคนเมืองและผักไร้สาร
URBIE คือ กิจการเพื่อสังคม ที่ประกาศตัวเป็น ทางเลือกใหม่ในการกินผักสำหรับคนเมือง
ร้านขายเครื่องดื่มสีสันสดใส นาม “URBIE” (เออบี้) สะดุดตาอยู่ตรง รถไฟฟ้าอารีย์ ทางออก 4 ดูผิวเผินไม่ต่างจากร้านชานมไข่มุก ที่คนเมืองเขาฮิตกันอยู่ในทุกวันนี้
แต่สิ่งที่ผิดแปลกไป คือ คำแนะนำตัวของร้าน ที่บอกเราว่า นี่คือร้านขายน้ำสมุนไพร จากผักไร้สารพิษ ที่มาพร้อมกับกิมมิกใส่ “เตยลี่” เยลลี่จากใบเตย ทดแทนไข่มุกที่ไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสุขภาพ
“ตอนนี้กระแสคนรักสุขภาพมีมากขึ้น แต่พอมองไปรอบตัวเห็นมีแต่ชานมไข่มุก รู้สึกว่า ทำไมล่ะ เราก็มีน้ำเพื่อสุขภาพได้ แต่ทำให้ทันสมัยขึ้น ดูคล้ายกับชานมไข่มุก อย่างมีการใส่ท็อปปิ้งต่างๆ มีเยลลี่ใบเตยแทนชาไข่มุก ตั้งชื่อว่าเตยลี่ ให้ดูสนุกขึ้น”
“ธนภณ เศรษฐบุตร” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ “URBIE” บอกที่มาของไอเดีย ซึ่งเขาและผู้ร่วมอุดมการณ์ “ณฐมนต์ ทวีนวกิจเจริญ” ช่วยกันขับเคลื่อนมาได้กว่า 2 เดือนแล้ว
URBIE ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นผลผลิตจากเวทีประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมในโครงการของ British Council เมื่อปี 2011 ก่อนที่ทีมงานจะหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ ด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคน จนปัจจุบัน URBIE อยู่ภายใต้การดูแลของ “ธนภณ” 1 ในผู้ร่วมก่อตั้ง ที่ลาออกจากงานประจำมาลุยด้าน SE แบบเต็มตัว
เขายอมรับว่าโมเดลของ URBIE เปลี่ยนแปลงไปจากจุดเริ่มต้นค่อนข้างมาก มีเพียงหัวใจหลักที่คงอยู่ นั่นคือ “การค้าที่เป็นธรรม” (Fair Trade) และ “ผักไร้สารเคมี” (Organic) เช่นเดียวกับชื่อ “URBIE” ที่ยังคงความหมาย มาจากคำว่า “Urban” บวกกับ “Veggie” รวมเป็น “URBIE” สะท้อนถึงเรื่องราวของ “ผัก” และ “คนเมือง” เหมือนวันเริ่มต้น
“ตอนประกวดแผนธุรกิจ ก็ยังโลกสวยกันอยู่ เราหวังว่าอยากจะทำพวกออร์แกนิกในเมืองนี่แหล่ะ อยากสนับสนุนให้คนมาปลูกผักออร์แกนิกกันมากขึ้น อยากสร้างตลาดออนไลน์ รวมถึงทำอุปกรณ์ในการปลูกผักสำหรับในเมือง ดูเหมือนง่ายๆ แต่พอเจอโลกความเป็นจริงก็รู้ว่ามันไม่ง่าย ส่วนหนึ่งเพราะความรู้ของตัวเองยังน้อยเกินไปด้วย”
เขายอมรับกับอุปสรรคที่ทำให้เส้นทางผู้ประกอบการสังคม “ไม่หมู” แต่ก็ยัง “ดื้อ” และ “โลกสวย” พอที่จะเดินหน้าความฝันของตัวเองต่อไป แม้เพื่อนร่วมอุดมการณ์จะทยอยโบกมือลาไปทีละคนสองคน
“ผมยังดื้อ ยังโลกสวย เพราะถ้าไม่ดื้อ ผมคงเลิกทำไปนานแล้ว” เขาบอกความหัวรั้นที่ไม่ยอมหลุดจากฝันไปง่ายๆ
จนวันหนึ่งไอเดียก็บรรเจิด เมื่อคิดถึงการนำสินค้าออร์แกนิกมาแปรรูปให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมือง เริ่มจากทำผักปรุงสำเร็จที่สามารถฉีกซองแล้วรับประทานได้ทันที เพื่อจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ช่วยให้คนเมืองหาผักไร้สารพิษทานได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา โดย Innovative house เพื่อให้ได้คุณภาพและอายุของสินค้าที่เหมาะสำหรับการจำหน่ายได้
และระหว่างรอผลิตภัณฑ์คลอดสู่ตลาด ก็เดินหน้าเปิดร้านน้ำเพื่อสุขภาพ โดยรับซื้อวัตถุดิบมาจากกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักไร้สารเคมี รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสมาชิกของเครือข่ายตลาดสีเขียว
“ผมมีความรู้เรื่องเกษตรน้อยมาก ไม่รู้หรอกว่าเกษตรกรใช้สารเคมีหรือไม่ ต่อให้ไปดูที่ฟาร์มก็ดูไม่ออก เลยต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ที่รู้จริงด้านการเกษตร แล้วผมก็เป็นคนสร้างตลาดให้” เขาบอกแนวทางปิดจุดอ่อนของตัวเอง
เพื่อตอบรับการเป็นผลิตภัณฑ์ของคนเมือง ร้าน URBIE เลยออกแบบให้สดใส และดูทันสมัย ตั้งตระหง่านอยู่บนรถไฟฟ้าอารีย์ สอดรับกับวิถีชีวิตของคนเมือง แม้ต้องรับมือกับค่าเช่าที่หลายหมื่นบาทต่อเดือน แต่คนหนุ่มบอกเราว่า สำหรับ “ทำเล” ถูกและดี ไม่มี ทำเลถูก แต่ขายไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นอยากได้ “ทำเล” ที่ดีก็ต้องกล้าลงทุน งกไม่ได้
เมื่อลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศในตอนเช้าจึงทำอาหารเช้าแบบง่ายๆ อย่างข้าวหน้าเห็ดคั่วสมุนไพร และข้าวปั้น โดยรับซื้อข้าวกล้องออร์แกนิกมาจากกลุ่มเกษตรกรที่บุรีรัมย์ส่วนเห็ดคั่วสมุนไพร ก็สั่งมาจากร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นพันธมิตร โดยไม่มีเนื้อสัตว์
“เราพยายามจะอิงความเป็นไทย โดยการใช้ใบตองมาห่อด้านล่าง แต่ยังไม่ได้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกรีนทั้งหมด เพราะร้านยังเล็กมาก ถ้าใช้พวกไบโอชานอ้อย กลัวว่าจะขายในราคาห่อละ 25 บาท ไม่ได้ และผู้บริโภคก็อาจไม่ซื้อ”
เช่นเดียวกับราคาของน้ำที่ตั้งไว้สู้กับตลาดชานมไข่มุกโดยเฉพาะ โดยขายกันตั้งแต่ 30,40 และ 50 บาท ตามแต่กิมมิกที่ลูกค้าอยากจะหยิบจับมาใส่น้ำ โดยจะยังพัฒนารสชาติใหม่ๆ ให้ถูกใจคนเมือง รวมถึงนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาวางขายในร้าน เพื่อกระตุ้นยอดขายให้มากขึ้น อย่างขนมปังเพื่อสุขภาพที่ทานกับแยมออร์แกนิกซึ่งพวกเขาจะทำเองด้วย
ธุรกิจน้ำดีเริ่มต้นด้วยเงินทุนหลักแสนบาท เขาบอกว่า ที่ออกสตาร์ทยังไม่ถึงหลักล้าน เพราะเป็นคนที่ “งกสุดๆ” ขณะที่งานเก่า เคยมีโอกาสศึกษาธุรกิจที่เริ่มต้นมาบ้าง อ่านหนังสือมาแล้วก็หลายเล่ม ทำให้รู้ว่า แทนที่จะลุยเลยแบบใหญ่ๆ ก็ลองทำเป็นต้นแบบเล็กๆ จากนั้นลองออกงาน ดูการตอบรับจากลูกค้า แล้วค่อยนำมาพัฒนาสินค้าต่อ ก็จะดีกว่า
“Business Plan ผมไม่เขียนนะ ผมว่า มันไร้สาระ ธุรกิจ Start up ความไม่แน่นอนสูงมาก เปลี่ยนตลอดแน่นอน ฉะนั้นมองว่า เรามีไอเดียอะไรก็ให้รีบออกไปทดสอบ เวิร์คไม่เวิร์คอย่างไร แล้วค่อยกลับมาพัฒนาต่อ พอทุกอย่างเริ่มนิ่งแล้วแผนก็จะค่อยๆ ตามมาเอง” เขาสะท้อนมุมคิดนอกกรอบ ที่ถอดจากประสบการณ์ล้วนๆ
ปัจจุบัน URBIE ยังขยันออกงานแสดงสินค้าและตลาดนัดเพื่อสุขภาพ เพื่อแนะนำตัวสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตในอนาคต ธนภณยอมรับว่ายังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะให้ธุรกิจเติบโตไปทางไหน ยอมรับว่าถ้าเปิดเป็นแฟรนไชส์ ก็ยังกังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมแฟรนไชซีให้มีคุณภาพแบบที่ต้องการได้ ก็ต้องศึกษาโมเดลที่เหมาะสมต่อไป โดยตั้งเป้าว่าในอนาคตแบรนด์นี้จะกลายเป็นแหล่งรวมอาหารเพื่อสุขภาพ ในหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์
“งานนี้เหนื่อย แต่สนุก” คือ บทสรุปสั้นๆ ที่ทั้งสองคนให้คำตอบกับเรา แม้ยังมีอะไรหลายอย่างผ่านมาท้าทาย และหลายครั้งที่ต้องเหนื่อยใจเอามากๆ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึงเส้นทางที่ข้ามผ่านมา ก็ยังคงยืนยันจุดยืนว่า พวกเขาคงจะไม่ก้าวออกจากเส้นทางนี้
“ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานบริษัทโฆษณามาก่อน จุดพลิกคือมีช่วงหนึ่งที่งานหนักมาก เข้า 9 โมง เลิก 4 ทุ่มทุกวัน บางวันก็เที่ยงคืน ตีสอง จนทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราทำงานเพื่ออะไรกันแน่ โลกก็ยังร้อนอยู่ คนไทยก็ยังตีกันอยู่ แต่เราต้องมาทำให้ลูกค้าขายบัตรเครดิตให้มากขึ้น ผมเลยตัดสินใจกระโดดไปทำงานที่องค์กรเพื่อสังคม พอทำไปสักพักก็ตัดสินใจมาทำกิจการของตัวเอง”
ขณะที่ “ณฐมนต์” เธอก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ฝันอยากมีกิจการของตัวเอง โดยเริ่มจากเปิดร้านเสื้อผ้าอยู่ที่สยาม และคิดเอาว่า อนาคตถ้ามีเงินมากๆ เธอจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือสังคม แต่วันหนึ่งก็ได้คำตอบว่า กว่าจะถึงวันนั้นเธอก็คงหมดแรงไปแล้ว แต่คนเราสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ทันที กับธุรกิจเพื่อสังคมในวันนี้
“ทำงานนี้บางทีก็เหนื่อย แต่พอได้เจอกับลูกค้า เขาบอกว่าชอบร้าน ชอบคอนเซ็ปต์ ก็รู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว อย่างน้อยการที่ทำแบบนี้ ก็มีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ก็จะพยามทำต่อไปเรื่อยๆ”
เช่นเดียวกับธนภณที่ยังยืนยันจะทำงานของเขาต่อไป เพื่อพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่าทางเลือกของเขาไปรอด หลังเคยตกลงกับที่บ้านว่าขอเงินส่วนที่จะส่งเขาเรียนต่อ มาใช้พิสูจน์ตัวเองด้วยการทำธุรกิจเพื่อสังคม
“วันที่ผมจะเลิกทำ ก็คือวันที่ไอเดียผมหมดแล้ว และไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกับมันต่อ ผมรู้สึกว่าตอนนี้ยังมีไอเดีย ยังสู้ต่อไปได้ ส่วนใครที่อยากทำ อย่าคิดมาก ลองทำเลย แต่เข้ามาอย่างฉลาด คือ หาข้อมูลดีๆ ไปคุยกับคนที่มีความรู้ แล้วลองกระโดดเข้ามา อย่าคิดว่า ต้องมีเงินก่อน อย่าไปสร้างเงื่อนไขให้กับตัวเอง เพราะต่อให้ไม่มีเงิน งบน้อย แต่ถ้าลองคิดดูดีๆ เราจะมองเห็นช่องทางที่จะเริ่มต้นแบบเล็กๆ ได้ ถ้าคิดกับมันจริงๆ อย่างไรมันก็ทำได้”
หนึ่งไอเดียคนทำกิจการเพื่อสังคม ที่ย้ำกับเราว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ต้องไปแข่งในตลาดทั่วไปได้ จึงจะยั่งยืนและอยู่รอดอย่างแท้จริง