สศค.คาดจีดีพีไตรมาส 2/59 โตมากกว่า 3.2%

สศค.คาดจีดีพีไตรมาส 2/59 โตมากกว่า 3.2%

"สศค." เผยเศรษฐกิจเดือน เม.ย. ปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคลงทุนเอกชน - ใช้จ่ายภาครัฐ มั่นใจศก.ไตรมาส 2/59 โตกว่าไตรมาสแรกที่อยู่ระดับ 3.2%

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2559 ว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2559 สะท้อนสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยโดยขยายตัวสูงที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี สำหรับการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวอีกครั้งในกลุ่มตลาดและสินค้าส่งออกหลัก ในด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2559 สะท้อนสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยโดยขยายตัวสูงที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี สำหรับการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวอีกครั้งในกลุ่มตลาดและสินค้าส่งออกหลัก ในด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 และ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน โดยในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.96 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 44.0 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ระดับ 178.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.2 เท่า

ทั้งนี้ยังคงเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปี 2559 ว่าจะขยายตัวได้ 3.3% โดยจะมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1.79 ล้านล้านบาท รวม 20 โครงการ ที่ล่าสุดครม.อนุมัติแล้ว 400,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายแล้วในไตรมาสแรกปีนี้กว่า 6,000 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 2 จะเบิกจ่ายได้กว่า 3,000 ล้านบาท ไตรมาส 3 เบิกจ่ายได้กว่า 10,000 ล้านบาท และไตรมาส 4 เบิกได้กว่า 30,000 กว่าล้านบาท รวมไตรมาส 2-3 จะเบิกจ่ายได้มากกว่า 43,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการเบิกจ่ายในโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยการสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงิน 35,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะเบิกจ่ายเบิกจ่ายในไตรมาส 2 อีก 12,000 ล้านบาท และในไตรมาส 3 อีก 22,000 ล้านบาท

ส่วนโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ เพื่อสนับสนุนให้แก่หมู่บ้านละไม่เกิน 200,000 บาท กรอบวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท โดยครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ในไตรมาส 2 ประมาณ 3,000 ล้านบาท และไตรมาส 3 ประมาณ 12,000 ล้านบาท ส่วนโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ในไตรมาส 2 ทั้งหมดที่เหลืออีก 8,000 ล้านบาท

ด้านการเบิกจ่ายในการลงทุนรถไฟฟ้ากรอบวงเงินอนุมัติกว่า 300,000 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะเบิกจ่ายเงินลงทุนในไตรมาส 2 ปีนี้ ประมาณ 9,000 ล้านบาท และไตรมาส 3 ประมาณ 10,000 ล้านบาท ไตรมาส 4 ประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันเบิกจ่ายแล้ว 20,000 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 2 ปีนี้จะเบิกจ่ายได้ 4,000 ล้านบาท และไตรมาส 3 อีก 4,000 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 ที่ 2,000 ล้านบาท ด้านโครงการถนน และกรมทางหลวง วงเงินลงทุน 39,000 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 34,000 ล้านบาทและในส่วนที่เหลืออีก 5,000 ล้านบาท จะทยอยเบิกจ่ายลงทุนในไตรมาส 2-4 นี้

นายกฤษฎา กล่าวว่า ในไตรมาส 2-3 ปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 3.2% อย่างแน่นอน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนของภาครัฐที่ทยอยลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมไปถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 0.7% ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ทาง สศค.ได้ขยายความภาพรวมเศรษฐกิจเดือนเมษายน 2559 ว่า การบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2559 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายนที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหดตัวร้อยละ -3.6 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวได้เช่นกันที่ ร้อยละ 2.9 ต่อปี เนื่องจากมีโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในเดือนเมษายน กอปรกับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคายางพาราที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรที่แท้จริงให้กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นสำคัญ

การลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2559 มีสัญญาณดีขึ้นจากการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 58.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรยังคงชะลอตัวสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ -13.4 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -7.2 ต่อปี