SCB เปิดแผนพัฒนา 'บล็อกเชน'

SCB เปิดแผนพัฒนา 'บล็อกเชน'

SCB เปิดแผนพัฒนา“บล็อกเชน” ยกระดับโอนเงินข้ามประเทศเรียลไทม์

การมุ่งสู่ “ดิจิทัล” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ ในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความแตกต่างในการทำธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า นอกจากการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีกว่า 4 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีแล้ว

ธนาคารไทยพาณิชย์ยังให้ความสำคัญกับ การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ล่าสุดได้ร่วมมือกับ “Ripple” และทาง “SBIRemit” จากประเทศญี่ปุ่น นำเทคโนโลยี บล็อกเชน ยกระดับการให้บริการรับโอนเงินข้ามประเทศ จากญี่ปุ่นมาไทยแบบเรียลไทม์สำหรับลูกค้ารายย่อยเป็นครั้งแรกของไทย

อารักษ์ สุธีวงศ์”รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสChief StrategyOfficerธนาคารไทยพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ “ กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการพัฒนาการบริการว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งธุรกรรมการเงิน เพราะเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจการให้บริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ซึ่งบริษัทในเครือด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ได้เข้าลงทุนในบริษัท Ripple ผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐ ซึ่งวัตถุประสงค์ที่เข้าลงทุนไม่ได้หวังเรื่องผลตอบแทน หรือรีเทิร์น เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่ได้มากมาย แต่สิ่งสำคัญคือการใช้บล็อกเชนในการศึกษาและ เรียนรู้

จนเกิดความร่วมมือกับทางSBI Remitผู้ให้บริการด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของSBI Groupเปิดบริการโอนเงินข้ามประเทศจากญี่ปุ่นมาไทยแบบเรียลไทม์ โดยโอนเงินผ่านตู้ของทางSBIมาเข้าบัญชีไทยพาณิชย์ ซึ่งจะเบิกเงิน หรือถอนเงินได้ภายใน 20 นาที เริ่มให้บริการในวันที่ 1 ก.ค.นี้

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีการโอนเงินเข้ามาไทยมากเป็นอันดับ 5 โดยแต่ละปีมีมูลค่าการโอนเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน จึงจะทำให้คนไทยในญี่ปุ่นที่มีอยู่ประมาณ 4 หมื่นคน โอนเงินกลับมายังไทยสะดวกขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายการโอนได้ถึง 2-3 เท่า จากเดิมที่ต้องเสียค่าโอนขั้นต่ำ 2.5 พันเยนต่อครั้ง”

อย่างไรก็ตามบริการนี้ยังเป็นการโอนเงินเฉพาะขาเข้า หรือโอนจากญี่ปุ่นมาไทยเท่านั้น และกำหนดการโอนขั้นต่ำไม่เกิน 1 ล้านเยนต่อครั้ง โดยไทยพาณิชย์จะเป็นผู้โค้ดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีรายได้จากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน และได้ฐานลูกค้าจากการเปิดบัญชีกับธนาคาร

บล็อกเชนด้านการโอนเงินข้ามประเทศของไทยพาณิชย์ครั้งนี้ ถือเป็นบล็อกเชนอันดับแรกๆ ที่ได้รับการอนุมัติ ให้เข้าไปอยู่ในแซนด์บ๊อกซ์ของแบงก์ชาติที่นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งต่อไปก็มีแผนที่จะขยายการให้บริการโอนเงินข้ามประเทศผ่านบล็อกเชนไปยังประเทศอื่นๆ ด้วยครอบคลุม ทั่วทุกภูมิภาคในอนาคต ทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก”

ปัจจุบันมีหลายธนาคารต่างชาติ ทั้งจากเยอรมัน ออสเตรเลีย และอเมริกา ให้ความสนใจที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ในโมเดลเดียวกันกับSBIเนื่องจากมีธุรกรรมการโอนเงินมายังไทยในปริมาณที่มาก ซึ่งปัจจุบันต้นทุนการโอนเงินข้ามประเทศสูง เพราะต้องผ่านคนกลาง (Correspondent Banks)เมื่อมีเทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วยจะทำให้ต้นทุนลดลงเพราะไม่ต้องผ่านคนกลาง

อารักษ์ บอกว่า หลังจากนี้ธนาคารเตรียมหารือกับ ธปท.พัฒนาต่อยอดจากการให้บริการรับโอนเงินข้ามประเทศ สู่การโอนเงินออกนอกประเทศ โดยปัจจุบันไทยพาณิชย์อยู่ระหว่างการพูดคุยกับธปท.ถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาต่อยอดเป็นบริการเชิงพาณิชย์ในด้านอื่นๆด้วย เช่นLetter of Guarantee, e-KYC (electronic know-your-customer) เป็นต้น

เราเห็นว่าบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเปลี่ยน landscape ของอุตสาหกรรมแบงก์ ซึ่งในช่วงแรกเราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากกว่าความมุ่งหวังในเชิงพาณิชย์ เพื่อทำความเข้าใจกับการใช้เทคโนโลยีพัฒนาการให้บริการ ซึ่งการที่เราเริ่มก่อนจะสร้างข้อได้เปรียบเชิงธุรกิจและสร้างความสามารถในแข่งขัน”

นอกจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้ว สิ่งสำคัญคือการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสำหรับการใช้เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีของอุตฯธนาคารยังปรับตัวได้ค่อนข้างช้า โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ปรับได้เร็วขึ้น ใช้เวลาปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ได้ภายใน 2-3 เดือน ไม่ใช่ 18-24 เดือนเหมือนในอดีต

“ธนาคารเพิ่งมีการประชุมกลางปีร่วมกับทางคณะกรรมการ ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่พูดคุยกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องเทคโนโลยี เพราะโลกกำลังมุ่งสู่ดิจิทัล พฤติกรรมผู้บริโภคก็ปรับเปลี่ยน โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้เอาเทคโนโลยีมาเป็นจุดที่ช่วยสร้างขีดแข่งขันให้กับธนาคาร ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเปลี่ยนผ่าน เพื่อมุ่งสู่ทิศทางนี้"

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยี ที่สร้างความได้เปรียบและสร้างขีดแข่งขันได้ ต้องทำด้วยความเร็ว และเป็นเทคโนโลยีที่ฉลาด ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้