เส้นทาง CSR ของจริง ปิดภาพลบส่งแบรนด์ยั่งยืน
จากกระแส CSR สู่ 6 เทรนด์สร้างความยั่งยืนปีนี้ ปิดรอยรั่วองค์กรไทยสู่ CSR-In-Process ที่ต้องเริ่มต้นจากต้นน้ำ เชื่อมโยงทุกผู้มีส่วนได้เสียเข้าสู่แผนธุรกิจ ก่อนถอดบทเรียนรายงานความยั่งยืนสู่สังคมเป็น“แบรนด์ที่คนรัก”
แนวคิดการทำกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR -Corporate Social Responsibility) ที่หลายธุรกิจมักดำเนินการผ่านกิจกรรมทางสังคม เช่น กิจกรรมปลูกป่า เลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก หรือการบริจาค ฯลฯ แล้วถ่ายรูปสวยงามถือป้ายองค์กรบอกชาวโลกว่าภารกิจเสร็จสิ้น จบ..!! กลับบ้าน
สุดท้ายอาจเป็นกิจกรรมที่ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนใดๆต่อธุรกิจ บางธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ยังแห่แหนชวนกันไปปลูกป่าตามกระแส อาจเป็นเพราะมองแบบแยกส่วน ขาดการมองถึงทุกผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) รอบด้าน ว่ากิจกรรม CSR ที่ทำลงไป สุดท้ายสะท้อนกลับมาแก้ไขปัญหา หรือทำให้องค์กรยั่งยืนได้อย่างไร
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวในงานทิศทาง CSR ปี 2561 และการเสวนาเรื่อง The Sphere of Sustainability ว่า สิ่งสำคัญของการทำ CSR ที่แท้จริงต้องเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการทำธุรกิจ (CSR-In-Process)จึงจะเป็นการตอบโจทย์สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้ตรงจุด
ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เน้นส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ ได้รวบรวมแนวโน้มกระบวนการพัฒนายั่งยืนในปีนี้เป็นหลักยึดให้ภาคธุรกิจดำเนินการไปสู่การดูแลมณฑลแห่งความยั่งยืน (Sphere of Sustainability) เป็น 6 เทรนด์ประกอบด้วย
1.New CG Code จากการสร้างความเชื่อมั่น (Building Confidence) สู่การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Creating Sustainable Value) เปลี่ยนจากการเน้นประโยชน์ผู้ถือหุ้น มาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย
2.First ESG Code ก้าวสู่ธรรมาภิบาลการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการลงทุน
3.GRI First Standards จากแนวทาง(Guidelines)สู่มาตรฐาน(Standards)การรายงานแห่งความยั่งยืนซึ่งเริ่มประกาศใช้ฉบับใหม่ปีนี้ซึ่งเข้มข้นขึ้น
4.New SDG Business Blueprint จากการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือสู่การพัฒนาการนำองค์กรตามเป้าหมายSDGs
5.Shared Value Innovation คิดค้นนวัตกรรมสร้างคุณค่าร่วมทั้งห่วงโซ่ซัพพลายเชน
6.Corporate Digizenship จากภูมิทัศน์(Landscape)สู่ดิจิทัศน์(Digiscope)ปรับตัวให้พร้อมรับการพัฒนาสังคมในห่วงโซ่ธุรกิจดิจิทัลทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยเทรนด์ทั้งหมดเริ่มเข้าสู่ประเทศไทย ด้วยแรงผลักดันจากองค์กรนอกประเทศ รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศที่ตื่นตัวเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในสังกัดสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Solution Network) องค์กรไทยหลายราย ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีหลักเพื่อการพัฒนายั่งยืน 17 ด้าน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและรัฐวิสาหกิจ อาทิ เซ็นทรัล มิตรผล ,บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่, บมจ.ซินเน็ค(ประเทศไทย), ธนาคารออมสิน, บมจ.แอลพีเอ็น เป็นต้น
อรจิรา ชัยบัณฑิตย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ มองสภาพการปรับตัวเพื่อจัดทำการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรไทยว่า ส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เริ่มทำมายาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงาน เพราะเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อทั้งธรรมชาติ และชุมชน จึงเริ่มต้นทำมายาวนานจนล้ำหน้าไปมากกว่าธุรกิจอื่น
ขณะที่ภาคบริการ เช่น ภาคการธนาคาร ก็เริ่มตื่นตัว ปิดจุดอ่อนของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่มายาวนาน ที่กำลังได้รับผลกระทบถูกแทนที่ด้วยคลื่นธุรกิจใหม่ๆ (Disruption)
นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ภาคธุรกิจให้คิดเชิงรุกพัฒนากลไกCSR ที่เริ่มต้นจากการปิดรอยรั่ว ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสิ่งที่ทำ ยังดีกว่าการปล่อยให้เกิดปัญหาในเชิงลบกับองค์กรแล้วค่อยไปแก้ไขในภายหลัง
วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้สถาบันฯ เปิดตัวการบริการใหม่ที่ช่วยยกระดับองค์กรธุรกิจไทยให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้จากต้นน้ำ โดยใช้ประสบการณ์ความรู้ ผลงานวิจัย และการเข้าเป็นเครือข่ายสมาชิกสถาบันหรือองค์กรที่ทำหลักเกณฑ์ความยั่งยืนในด้านที่แตกต่างกัน
เรียกบริการใหม่ว่า “ร้านค้าเพื่อความยั่งยืน” (Stored Sustainability Stored) พาองค์กรไทยปูพรมไปสู่การจัดทำความยั่งยืนในระดับสากล ที่แม้จะมีทิศทางการทำความยั่งยืนที่หลากหลาย แต่สถาบันจะเข้าไปรวบรวม จัดกลุ่มและวิเคราะห์ระดับการทำCSR ขององค์กรไทยให้สอดคล้องกับธุรกิจ ไม่ใช่เพียงกิจกรรม แต่จะต้องมีส่วนในการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเปิดจุดเสี่ยงปัจจุบันและในอนาคต
ประกอบด้วย 3 S คือ 1.การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework) ศึกษาทบทวนภาพรวมของการทำความยั่งยืนในองค์กรให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจรวมถึงความพร้อมขององค์กร
“เข้าไปศึกษาพื้นฐานการดำเนินธุรกิจผลกระทบ นำความยั่งยืนมาบูรณาการเข้ากับแผนยั่งยืนองค์กรทุกด้าน”
2.ประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) ช่วยเช็คสุขภาพและวัดสถานะความยั่งยืนของกิจการ เพื่อที่จะวางแผนหาจุดแข็งจุดอ่อนที่ควรจะเข้าไปพัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุง อุดรอยรั่ว (Gap analysis)
3.การวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report) จัดทำการเผยแพร่กระบวนการทำงานความยั่งยืนให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งเนื้อหาและหลักการ นำไปเผยแพร่สู่สาธารณะให้ความเข้าใจและตะหนักของความใส่ใจขององค์กร
เขายังระบุว่า จากการจัดทำรายงาน GRI Standards (รายงานความยั่งยืน) ในเดือนก.พ.ปีนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 87คน พบว่า 67%ต้องการนำกรอบGRIไปดำเนินการในปีนี้ และสัดส่วน 6% จะนำไปใช้ในปี 2562 และอีก 18% ยังต้องใช้เวลาสักระยะจึงดำเนินการ ยังมีสัดส่วน 8% ที่ไม่แน่ใจ โดยเหลือเพียง 1% ที่ระบุว่าไม่มีแผนนำมาใช้
ส่วนการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาใช้ในองค์กรพบว่า 50% นำมาเป็นวาระการดำเนินงานขององค์กร สัดส่วน 34% นำไปสู่การจัดทำโครงการและกิจกรรมของธุรกิจ และอีก 12% ได้เข้าร่วมเครือข่ายธุรกิจเอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Friendly Biz) ที่สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่ม ที่เหลือสัดส่วน4%ยังไม่มีแผนทำSDG
“จากผลสำรวจถือว่าองค์กรไทยยังตื่นตัวมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีสัดส่วนที่ยังขาดความรู้และความพร้อมในด้านดังกล่าวอยู่มากเช่นกัน”
ขณะที่เทรนด์ทั้งประเทศทั่วโลกมุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น หากธุรกิจไม่ต้องการตกขบวนหรือเจอวิกฤติแบรนด์ในภายหลังควรเริ่มจัดวางกลยุทธ์ทิศทางองค์กรที่จะมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยการมองธุรกิจไปข้างหน้าในช่วง 3-5 ปี แล้วค่อยปรับไปทีละขั้นตอนจนเข้าสู่มาตรฐานสากล