วิบาก“ทีวีดิจิทัล" 5 ปีมาร์เก็ตแคปหด "แสนล้าน"

วิบาก“ทีวีดิจิทัล" 5 ปีมาร์เก็ตแคปหด "แสนล้าน"

สำรวจหุ้น“กลุ่มทีวีดิจิทัล” ผ่าน 5 ปี “มาร์เก็ตแคป”หาย 1.14 แสนล้านบาท หลังรายได้โฆษณาทรุด-ดิจิทัลไล่ล่า “กูรู” วิพากษ์ปีนี้ผู้ประกอบการ ดิ้นแก้เกมกู้ฐานะ เตรียมหนี 5G อีกรอบ !!

ในยุคที่ ผู้ชม” มีทางเลือกหลากหลายในการรับชม  ไม่เพียงผ่าน “จอแก้ว”(ทีวี) แต่ยังมีอีกหลาย จอดิจิทัล ให้เลือกเสพ ตามการเปลี่ยนแปลงของ“เทคโนโลยี”ที่รวดเร็ว โดย อุตสาหกรรมทีวี" เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมแรกๆที่ถูก ดิจิทัลไล่ล่า (Digital Disruption) 

ที่สำคัญ หนีไม่พ้น !!  

ไม่เพียงถูกดิจิทัลไลล่า ที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ฉุดให้เม็ดเงินโฆษณาไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ (โดยปี 2561 Nielsen เผยเม็ดเงินโฆษณาผ่านทีวี อยู่ที่ 67,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.05% จากเม็ดเงินโฆษณารวมที่ 105,455 ล้านบาท) ยังถูกแบ่งเค้กโฆษณาจากจำนวนช่องจำนวนมาก ไม่นับเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลไปยังสื่อในแพลตฟอร์มดิจิทัล (สื่ออินเตอร์เน็ตในปี 2561 มีการใช้เม็ดเงินโฆษณา 1,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.08%)

สถานการณ์ดังกล่าว กดดันต่อผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างหนัก นับจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) เปิดให้ประมูลคลื่นประกอบกิจการทีวีดิจทัลเมื่อกว่า 5 ปีที่ผ่านมา (ปลายปี 2556) มากถึง 24 ช่อง (ยุติออกอากาศ 2 ช่อง - ไทยทีวี และโลกา ) เม็ดเงินประมูลรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยมีจำนวนช่องมากขึ้นถึง “4 เท่าตัว” จากแรกเริมทีวีอนาล็อก (ฟรีทีวี) มีจำนวน 6 ช่อง

นอกจากนี้ จากการคำนวณยังพบว่า ผู้ประกอบการ 7 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่แจ้งงบการเงินในปี 2561  ได้แก่ บมจ. บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC ,บมจ. อสมท หรือ MCOT ,บมจ. โมโน เทคโนโลยี หรือ MONO ,บมจ. อาร์เอส หรือ RS ,บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือ WORK ,บมจ. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง หรือ AMARIN และ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หรือ GRAMMY ต่างมี ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือMarket Cap อยู่ในแนวโน้มขาลง 

โดยพบว่า ระหว่างปี 2557-2561 ตัวเลขปรับตัว Market Cap “หดหายมากถึง 114,707.65ล้านบาท เหลือ 56,703.42 ล้านบาทในปี 2561 จากปี 2557 มาร์เก็ตแคปรวม อยู่ที่ 171,411.07 ล้านบาท!!

ผลประกอบการ และมาร์เก็ตแคปที่ดิ่งลง ต่อเนื่องทำให้ที่ผ่านมา เห็นการดิ้นเพื่อความอยู่รอดของเหล่าผู้ประกอบการทีวีดิจทัล ไม่นับการขอให้รัฐเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะข้อเรียกร้องผ่านสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้รัฐเปิดทางคืนใบอนุญาต” (ไลเซ่นส์) ทีวีดิจิทิล เพื่อหยุดภาวะเลือดไหลออก  รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำเงินจากการประมูล 5 G ส่วนหนึ่ง มาช่วยเหลือผู้ประกอบการทวีดิจิทัลในการจ่ายค่าไลเซ่นส์ที่เหลืออยู่กว่า 1.5 -1.6 หมื่นล้านบาท หลังกสทช.ออกมายอมรับกลายๆก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมาประเมินสถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิทัลผิดพลาด ไม่คิดว่าคลื่นเทคโนโลยีจะถาโถมกระทบธุรกิจทีวีเร็วและแรง 

นั่นคือ การเร่งปรับโครงสร้างองค์กร -ลดบุคลากร ของหลายช่อง ตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้  แม้แต่ ยักษ์ใหญ่ ของวงการอย่าง “สถานีโทรทัศน์ช่อง 3” (BEC) ของ ตระกูลมาลีนนท์ ที่มีการปรับลดพนักงานในช่วงที่ผ่านมา โดยผลการดำเนินงานปี 2561 ขาดทุนสุทธิถถึง 330 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายสิบปี จากปีก่อนหน้าที่มีกำไรลดลงเหลือ 61 ล้านบาท

เมื่อเร็วๆนี้ บีอีซี ยังแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่องการแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง โดยมีมติแต่งตั้ง อริยะ พนมยงค์ เป็น “กรรมการผู้อำนวยการ” หรือ President รายงานตรงต่อคณะกรรมการบริหาร มีผลตั้งแต่ 2 พ.ค.เป็นต้นไป ต้องดูต่อไปว่า “อริยะ” จะเป็น “ฮีโร่” กอบกู้สถานการณ์ช่อง 3 ได้หรือไม่ 

ขณะที่ “กูรู” ตลาดทุนมีมุมมองต่อหุ้นในกลุ่มทีวีดิจิทัล ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ กล่าวกับ“กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า หุ้นในกลุ่มทีวีดิจิทัลยังไม่น่าสนใจลงทุน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุน ประจำเดือนมี.ค. 2562 

โดยมองว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลยังเผชิญ “ปัจจัยลบ” จากเทคโนโยลี่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วค่อนข้างมาก รวมทั้งการแข่งขันแย่งเม็ดเงินโฆษณา

ส่วนการเข้ามาของเครือข่าย 5G โดยภาครัฐตั้งเป้าเปิดประมูลไลเซ่นส์ในปี 2562 และเกิดการลงทุน-ให้บริการ ในปี 2563 ซึ่งจะเป็นอีก“ตัวเร่ง”กระทบหนักธุรกิจทีวีนั้น สำหรับมุมมองส่วนตัวเชื่อว่าค่ายมือถือ (โอปอเรเตอร์) ทั้งหลายคงต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐก่อน ดูสายป่านตัวเอง และต้องดูว่าประมูลไลเซ่นส์มาแล้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ !! 

นภนต์ ใจแสน” นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง (BLS) บอกว่า เม็ดเงินโฆษณาเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 14% จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 7,200 ล้านบาท (อ้างอิง Nielsen) โดยเม็ดเงินโฆษณาหดตัวแบ่งเป็น แม็กกาซีน ลดลง 33% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 36% จากเดือนก่อน สื่อในโรงภาพยนตร์” ลดลง 25% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 37% จากเดือนก่อน สื่อหนังสือพิมพ์ ลดลง 19% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 29% จากเดือนก่อน

ขณะที่ สื่อเคเบิล/ดาวเทียม ลดลง 17% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 9% จากเดือนก่อ และ สื่อนอกบ้าน” ลดลง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่น และ 16% จากเดือนก่อน สำหรับสื่อกลุ่มอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สื่ออินเตอร์เน็ต ปรับตัวสูงขึ้น 17% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 17% จากเดือนก่อน สื่อทีวี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 16% จากเดือนก่อน และ สื่อวิทยุ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัว 27% จากเดือนก่อน

สำหรับสื่อทีวี “Nielsen” รายงานเม็ดเงินโฆษณาเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ช่อง HD อยู่ที่ 2,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ช่อง SD อยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 21% ช่องข่าวอยู่ที่ 206 ล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ช่องเด็กอยู่ที่ 46 ล้านบาท ลดลง 12% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และช่องสาธารณะ (ช่อง 5 และ ช่อง NBT) อยู่ที่ 261 ล้านบาท ลดลง 38% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยเม็ดเงินโฆษณาของผู้ใช้งบ 10 อันดับแรก ปรับตัวสูงขึ้น 23% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และUnilever ปรับลด ซึ่งงบประมาณโฆษณา 31% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ P&G เพิ่มงบโฆษณา 66% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ช่อง 7 และช่องไทยรัฐทีวี เป็นผู้นำเรตติ้งเติบโตเทียบกับเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเพิ่ม 4% และ 21% ตามลำดับ ขณะที่เรตติ้งของช่อง 3HD ลดลง 3% จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 1.07 โดยการรีรันละครอังกอร์ (ค่าเฉลี่ยเรตติ้งที่ 4) และละครใหม่ทองเอก (เรตติ้งตอนแรกอยู่ที่ 4 ถือว่าสูงที่สุดนับการออกอากาศตั้งแต่ต้นปี) เป็นรายการที่ทำเรตติ้งดีที่สุดในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าเรตติ้งเทียบกับเดือนก่อนจะลดลง

สำหรับ MONO เรตติ้งหดตัว 5% จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 0.85 และ WORK เรตติ้งหดตัว 1% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 0.79 แต่ทั้งสองช่องยังคงอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ ขณะที่เรตติ้งของ ช่อง RS และช่อง ONE หดตัว 18% และ 12% จากเดือนก่อน ตามลำดับ มาอยู่ที่ 0.39 และ 0.47 เนื่องจากยังไม่มีรายการใหม่ที่โดดเด่นเข้ามา

อย่างไรก็ตาม “BLS" มีมุมมองเป็นกลางสำหรับ หุ้น BEC” ในทิศทางการขยายรายได้ในธุรกิจการขายคอนเทนต์และสื่อดิจิทัลจะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัว แต่ธุรกิจทีวีคงเริ่มเห็นการฟื้นตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเดือนม.ค. ชะลอตัวไปอย่างมาก แต่เม็ดเงินเริ่มกลับเข้ามาในช่วงเดือนก.พ. และคาดจะต่อเนื่องไปในเดือนมี.ค. นี้ หลังมีความชัดเจนของการเลือกตั้ง และมี Pent-up demand ที่อั้นไว้ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ไหลเข้ามารวมถึงเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ( FMCG)

นอกจากนี้ BEC ยังตั้งเป้าธุรกิจการขายคอนเทนต์และสื่อดิจิทัลเติบโตมากกว่า เท่าตัว ในปี 2562 โดยมองว่าประเทศจีนเป็นตลาดที่ดี แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องของ Regulatory แต่ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการทำธุรกิจนี้ และคงจะเห็นภาพธุรกิจที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะที่ ปีนี้คาดช่อง 3 เรตติ้งจะรักษาโมเมนตัมได้ต่อเนื่องจาก Line-up ของละครที่คาดจะทำเรตติ้งได้ดีจ่อคิวอยู่หลายเรื่อง อย่างเช่น รัก...จัง..เอย , สัตยาธิษฐาน (ผู้แต่งเดียวกับบุพเพสันนิวาส) , เพลิงนาคา (นาคภาคผู้ชาย) และแรงเงา 2 เป็นต้น

สำหรับรายการประเภทข่าวจะเป็น จุดเด่น ที่จะหนุนเรตติ้งและดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาลากยาวไปจนถึงช่วงเลือกตั้ง ซึ่งเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของ BEC ทั้งจากการขยายธุรกิจต่อยอดจากคอนเทนต์ในมือ และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทีวี แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลักอย่างสื่อทีวียังมีความเสี่ยงจากการแข่งขันที่ยังคงรุนแรง ในขณะที่สัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่เติบโตแรงอย่างธุรกิจการขายคอนเทนต์ และสื่อดิจิทัลยังเป็นสัดส่วนที่น้อย ดังนั้น ยังคงคำแนะนำ “ถือ” หุ้น BEC

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASP เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรวดเร็วถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล !! ฉะนั้น ฝากเอกชนที่มีช่องทีวีเป็นของตัวเอง ต้องปรับปรุงตัวเองและนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างช่องทางหารายได้ใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างคอนเทนต์ที่ ดึงดูดใจผู้บริโภคให้เกิดความนิยมในคอนเทนต์ดังกล่าว เพื่อให้เม็ดเงินโฆษณาไหลกลับมาในทีวี เพราะว่าปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาไหลจากแพลตฟอร์มทีวีไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ 

โดยเฉพาะไหลไปกลุ่ม “สื่อนอกบ้าน ที่โดดเด่นมากขึ้น อาทิ ป้ายโฆษณาดิจิทัล เพราะปัจจุบันไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้พบเจอได้ง่าย หากกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับตัวได้จะส่งผลดีในระยะยาว

ขณะที่ ประเด็นที่ กสทช. มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล มองว่าน่าจะทำให้ต้นทุนลดลงได้ รวมทั้งหนุนภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลดูดีขึ้นมาบ้าง แต่ต้นเหตุปัญหาคือ “Supply” (ปริมาณ) ของช่องที่มีมากกว่าเม็ดเงินโฆษณาที่เข้ามายังไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคงช่วยเพียงต่อลมหายใจให้ทีวีดิจิทัลเท่านั้น !!

อย่างไรก็ตาม เทิดศักดิ์ วิเคราะห์ว่า ปี 2562 น่าจะเป็นอีก 1 ปี ที่ยากลำบากของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แม้ว่า กสทช. จะออกมาเปิดทางช่วยเหลือแบบเต็มรูปแบบก็ตาม แต่ด้วยเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่าตัวของสื่อดิจิทัล บ่งชี้ผ่านพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อไม่ได้ยึดติดกับสื่อเดิมๆ อย่าง ทีวี วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น 

ยิ่งเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตสื่อต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ลำพังการแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งการคิดรูปแบบรายการ หรือการเรียกเรตติ้งก็ยาก ยังต้องมาแข่งขันกับกระแสการมาของเครือข่าย 5G อีกด้วย คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับผู้ประกอบการอาจจะเห็นการถอยทัพของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบางรายออกจากวงการเพิ่มขึ้นอีกก็เป็นไปได้ทั้งนั้น !!

--------------------

ทีวีดิ้นกระจายพอร์ต  รุกทีวี ชอปปิง

ความเคลื่อนไหวการปรับตัวของผู้ประกอบการทีวีดิจทัลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือ WORK  ที่รุกสู่ธุรกิจทีวีชอปปิงเปิดตัวรายการ Hello Shops เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นรายการจำหน่ายสินค้าโฮมชอปปิง ครอบคลุมสินค้า 5 ประเภท คือ เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า ไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยว แฟชั่น สุขภาพและความงาม เพื่อเจาะกลุ่มเพศหญิง ซึ่งเป็นแม่บ้านโดยออกอากาศ 4 ช่วงเวลา ช่วงละ 10 นาที และช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน

โดยผังรายการใหม่ ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เวิร์คพอยท์ได้เพิ่มช่วงเวลา Hello Shops อีก 4 ช่วงเวลา โดยตั้งเป้ารายได้จากการขายสินค้าผ่านทีวีชอปปิงในปี 2562 อยู่ 365 ล้านบาท สะท้อนความสำเร็จในปี 2561 มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 118.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 228% จากผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามเป็นหลัก

ที่ผ่านมายังมีช่อง 8 ของ “เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส หรือ RS ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจทีวีชอปปิง โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากทีวี แต่ใช้ทีวีเป็นแพลตฟอร์มตัวช่วยโปรโมทสินค้า และสปริงนิวส์ ที่ทีวีไดเร็คเช่าเวลาโฆษณา ในปัจจุบันรายการขายสินค้าทีวีชอปปิงแทรกซึมเข้าไปในทุกช่วงในทุกช่องทีวีดิจิทัลไปแล้ว

ขณะที่ “เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท หรือ MCOT เปิดเผยถึงแผนงานในปี 2562 ว่า บริษัทจะมุ่งเน้นธุรกิจใหม่ๆ ผ่านยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการเสถียรภาพทางการเงิน และยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างมูลค่าและรายได้จากธุรกิจใหม่

นอกจากนี้ อสมท ได้เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินที่มีอยู่ โดยเฉพาะที่ดิน 50 ไร่ และที่ดินที่เป็นที่ตั้งสำนักงานปัจจุบันของ อสมท 20 ไร่ ที่มีศักยภาพในย่านถนนรัชดา-พระราม 9 ซึ่งใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 , ศูนย์วัฒนธรรม , สถานทูตจีนและเกาหลี , ธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่สามารถลงทุนและต่อยอดทางธุรกิจได้