“ซีพี” ตอบรับร่างสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รฟท.ชง กพอ.เคาะพรุ่งนี้ พร้อมเสนอตั้งองค์กรบริหารสัญญาโครงการ 50 ปี ทำงานควบคู่ “เอสพีวี” ของเอกชน เล็งคืนเงินหลักประกันซอง “ซีพี-บีเอสอาร์” รายละ 2,000 ล้านบาท
การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่เปิดให้ยื่นซองไปเมื่อวันที่ 12 พ.น.2561 ได้สรุปเรียบร้อยหลังจากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ร่วมกันเห็นชอบร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างแล้ว
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า กลุ่มซีพีได้ส่งหนังสือตอบรับร่างสัญญาร่วมลงทุนมาในช่วงคืนวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ รฟท.กำลังตรวจรายละเอียดร่างสัญญาที่กลุ่มซีพีส่งกลับมาให้เสร็จภายในวันนี้ (12 พ.ค.) โดยไม่มีการปรับแก้ในสาระสำคัญที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างมา แต่มีการตรวจสอบรายละเอียดย่อย เช่น วันกำหนดส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง
นายวรวุฒิ กล่าวว่า รฟท.จะรายงานการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ค.) ประกอบด้วย 1.ผลการประมูลที่กลุ่มซีพีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และเสนอขอรับเงินอุดหนุน 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินไว้ 119,425 ล้านบาท 2.ร่างสัญญาร่างลงทุนระหว่าง รฟท.กับกลุ่มซีพี
ชงเคาะข้อเสนอนอกเงื่อนไข
3.รายงานการเจรจาระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และกลุ่มซีพี ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นข้อเสนอของกลุ่มซีพีที่อยู่นอกเหนือเอกสารการเข้าร่วมโครงการ (อาร์เอฟพี) เช่น ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
ทั้นี้ กพอ.จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว แต่ถ้ามีประเด็นใดที่ กพอ.เห็นว่าควรมีการเจรจากับกลุ่มซีพีเพิ่มเติมก็ขึ้นกับการพิจารณาของ กพอ. และถ้า กพอ.เห็นชอบดังกล่าวก็คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในวันที่ 15 มิ.ย.2562 ส่วนวันลงนามสัญญาร่วมลงทุนจะเป็นไปตามความเห็นร่วมของคู่สัญญา
เสนอตั้งองค์กรบริหารสัญญา
นอกจากนี้ การประชุม กพอ.จะมีการพิจารณาในหลักการจัดตั้งองค์กรบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อทำหน้าที่บริหารสัญญา 50 ปี โดยจะกำกับดูแลการก่อสร้าง การเดินรถไฟความเร็วสูงและการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เป็นไปตามสัญญา และโดยหลักการจะมีการออกกฎหมายรองรับการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวเพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีอำนาจหน้าที่เป็นคู่สัญญากับเอกชนผู้ร่วมลงทุน
“รฟท.ไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งเป็นโครงการที่รัฐบาลผลักดันเพื่อขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงต้องตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาบริหารโครงการ โดยรูปแบบและโครงสร้างองค์กรขึ้นกับการพิจารณาของ กพอ.และไม่ได้เป็นองค์กรที่ขึ้นตรงต่อ รฟท.” นายวรวุฒิ กล่าว
ทำงานควบคู่“เอสพีวี”เอกชน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า องค์กรบริหารโครงการที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่จะทำงานร่วมกับเอกชนผู้ร่วมลงทุน ซึ่งภายหลังการลงนามสัญญาร่วมลงทุนจะต้องตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการออกแบบงานโยธา ศูนย์ซ่อมบำรุง การติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูง การเดินและการบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง รวมถึงการพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนโครงการ และการดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์บริเวณสถานี
ทั้งนี้ เอสพีวีที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะต้องเป็นผู้ชนะการประมูลและมีนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 1 ราย ถือหุ้นมากกว่า 25% รวมทั้งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญาร่วมลงทุน รวมทั้งก่อนเริ่มเดินรถจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท
รวมทั้ง ผู้ชนะประมูลจะได้สิทธิการบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยภาครัฐจะรับภาระหนี้งานโยธาแอร์พอร์ตเรลลิงก์ แต่ผู้ชนะประมูลจะต้องชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์เต็มจำนวน 10,671 ล้านบาท
เล็งคืนหลักประกันซอง2พันล้าน
นอกจากนี้ รฟท.จะมีการพิจารณาคืนหลักประกันซองให้ผู้ยื่นประมูลทั้ง 2 ราย คือ 1.กลุ่มซีพี 2.กลุ่มกิจการค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง วงเงินรายละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มยื่นไว้ในวันประมูลเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2561
โดยจะคืนให้ภายใน 15 วันนับจาก กพอ.เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุน แต่ถ้ามีกรณีที่ รฟท.ริบเงินหลักประกันซองได้มี 3 กรณี คือ 1.ผู้ยื่นซองขอถอนเอกสารข้อเสนอของตัวเอง 2.ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ยอมรับการแก้ไขข้อมูลที่ รฟท.เสนอ 3.ผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้รับการคัดเลือกแต่ไม่ลงนามสัญญาร่วมลงทุน หรือไม่ยื่นหลักประกันสัญญาวงเงิน 4,500 ล้านบาท
ส่วนค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอที่เอกชนทั้ง 2 ราย ยื่นในวันประมูลเช่นกันให้ รฟท. 2 ล้านบาท ในวันที่ 12 พ.ย.2561 และเงินดังกล่าวจะไม่คืนในทุกกรณี