เร่ง 'คชก.' เคาะอีไอเอไฮสปีด

เร่ง 'คชก.' เคาะอีไอเอไฮสปีด

เร่งพิจารณาร่างอีไอเอรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จี้ รฟท. ส่งข้อมูลเพิ่ม ระบุแผนลดผลกระทบทางเสียง-สั่นสะเทือนยังไม่ชัด ร.ฟ.ท.เร่งแผนทำอีไอเอ-ส่งมอบที่ดินให้กลุ่มซีพี ห่วงลงนามไม่ทันกำหนดภายใน 15 มิ.ย.นี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ถูกกำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ภายในวันที่ 15 มิ.ย.2562 แต่เงื่อนไขการลงนามของโครงการรัฐจะต้องมีการพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อน

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) อยู่ระหว่างพิจารณาร่างอีไอเอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของ รฟท. ซึ่งที่ผ่านมา คชก.มีการหารือหลายรอบแต่ยังไม่สรุปเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

เร่ง \'คชก.\' เคาะอีไอเอไฮสปีด

แจ้ง ร.ฟ.ท. ส่งข้อมูลเพิ่ม

นางระวีวรรณ กล่าวว่า การประชุม คชก.ครั้งล่าสุดได้ให้บริษัทที่ปรึกษาผู้จัดทำร่างอีไอเอของ รฟท.ส่งข้อมูลการดูแลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มใน 2 ประเด็น คือ 1.ผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของโครงการ 2.ผลกระทบทางเสียง ซึ่งจะมีผลกระทบทางเสียงต่อชุมชนรอบโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งช่วงก่อสร้างและการเดินรถ โดยบริษัทที่ปรึกษาจะต้องทำรายละเอียดการป้องกันมาเสนอ คชก.เช่น การสร้างกำแพงป้องกันเสียงบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงผ่านชุมชน

“การพิจารณาร่างอีไอเอจะเสร็จเร็วแค่ไหนขึ้นกับการส่งของมูลของ รฟท.และถ้า คชก.พิจารณาเรียบร้อยจะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ทันที เพราะ พล.อ.ประวิตร พร้อมที่จะเรียกประชุม” นางรวีวรรณ กล่าว

เร่งอีไอเอ-แผนมอบที่ดิน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า เบื้องต้น ร.ฟ.ท.ยังมีกำหนดลงนามสัญญาภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ หรือไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันยังเหลือกระบวนการสำคัญที่ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งรัด 2 ส่วน คือ 1.การจัดทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพีเพื่อเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา 2.การจัดทำรายงานอีไอเอ

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า สกพอ.ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากมีการลงนามกับกลุ่มซีพีแล้ว สกพอ.จะมีบทบาทในการกำกับดูแลโครงการนี้ร่วมกับ รฟท.

ห่วงเซ็นไม่ทันกำหนด 15 มิ.ย.

ทั้งนี้ รฟท.ส่งร่างอีไอเอให้ สผ.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2561 โดยการพิจารณามีความล่าช้าที่มีเหตุผลส่วนหนึ่งจากกระบวนการของ รฟท.ด้วย เพราะยังชี้แจง คชก.ไม่ผ่านและขณะนี้อยู่ระหว่างส่งมอบข้อมูลให้พิจารณาเพิ่มเติม

“ขณะนี้ยังมีกำหนดเป้าหมายลงนามสัญญาไว้ตามเดิม แต่จะทันหรือไม่ทัน ก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะเรื่องของอีไอเอถือเป็นประเด็นใหญ่ หากไม่ผ่านการพิจารณา ร.ฟ.ท.จะลงนามสัญญากับเอกชนไม่ได้ และ ร.ฟ.ท.ก็ไม่มีอำนาจในการกำหนดให้ คชก.พิจารณาโดยเร็ว ดังนั้นอาจจะต้องรอให้เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวลแล้ว ส่วนการลงนามจะช้าหรือเร็วกว่ากรอบกำหนดก็ต้องได้ลงนามสัญญา เพราะผ่านขั้นตอน ครม.แล้ว”

ค่าเสียงเกินมาตรฐาน

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ส่งอีไอเอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้กับ สผ.เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2561 โดยมีบริษัทเอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำ ซึ่งการทำอีไอเอได้วิเคราะห์ผลกระทบและแผนการรับมือครอบคลุม 19 ด้าน คือ 1.สภาพภูมิประเทศ 2.ทรัพยากรดินและการชะล้างพังทลายของดิน 3.ธรณีวิทยาและแผ่นดินไหว 4.อุทกวิทยาน้ำผิวดิน 5.คุณภาพน้ำผิวดิน 6.อุตุนิยมวิทยาและคุณภาพอากาศ 7.เสียง 8.ความสั่นสะเทือน

9.นิเวศวิทยาทางบก ด้านทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์ป่า 10.นิเวศวิทยาทางน้ำ 11.การใช้ประโยชน์ที่ดิน 12.การคมนาคมขนส่งและอุบัติเหตุและความปลอดภัย 13.การควบคุมน้ำท่วมและระบายน้ำ 14.เศรษฐกิจและสังคม 15.การโยกย้ายและการเวนคืน 16.อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 17.สุขาภิบาล 18.ประวัติศาสตร์และโบราณคดี 19.สุนทรียภาพ

ทั้งนี้ ในประเด็นที่ คชก.ให้ รฟท.ส่งข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบจากการสั่นสะเทือนและเสียง โดยในรายงานอีไอเอระบุว่ามีผลกระทบอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งการป้องกันผลกระทบทางเสียงในช่วงก่อสร้างจะติดตั้งกำแพงเสียงชั่วคราวลักษณะทึบในบริเวณที่มีปัญหา เช่น สถานีตำรวจนครบาลลาดกระบัง ส่วนในช่วงการเดินรถพบจุดที่อ่อนไหวต่อค่าเสียงเกินมาตรฐาน 48 แห่ง แบ่งเป็นช่วงตั้งแต่ปี 2566 รวม 30 แห่ง และช่วงตั้งแต่ปี 2586 รวม 18 แห่ง

เผยขุดอุโมงค์เขาชีจรรย์

นอกจากนี้ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการคาดกรณ์หรือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ รวมทั้งศึกษาสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ

สำหรับพื้นที่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง มีสถานีรถไฟความเร็วสูง 9 สถานี คือ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยาและอู่ตะเภา รูปแบบของรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงสร้างยกระดับและอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ 220 กิโลเมตร

ระบบขนส่งทางรางที่เกี่ยวข้องในเส้นทางโครงการมี 3 ส่วน คือ 1.โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง 2.โครงการรถไฟเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง 3.โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง

สำหรับเส้นทางส่วนใหญ่เรียบทางรถไฟสายตะวันออก แต่จะมีการเบี่ยงช่วงเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา เพราะเส้นทางรถไฟปัจจุบันมีทางโค้งรัศมีแคบจึงต้องปรับรัศมีโค้งเพื่อรองรับความเร็วสูง รวมทั้งมีทางเบี่ยงช่วงเขาชีจรรย์ เพราะแนวทางรถไฟปัจจุบันเป็นโค้งรัศมีแคบรอบเนินเขาอาจไม่เหมาะกับรถไฟความเร็วสูง จึงต้องสร้างอุโมงค์แบบเปิดหน้าดินแล้วถมกลับความยาว 300 เมตร ซึ่งพื้นที่แนวเส้นทางใหม่อาจตองมีการเวนคืนที่ดิน