เอกชน เดือด! จี้ตอบโต้สหรัฐปมตัด 'จีเอสพี'

เอกชน เดือด! จี้ตอบโต้สหรัฐปมตัด 'จีเอสพี'

“หอการค้า”จี้รัฐออกแอคชั่น เจรจาก่อนมีผลบังคับใช้ 6 เดือน ด้าน สรท.เร่งหารือผลกระทบส่งออกไทย

นายกลิน สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยทราบเรื่องที่สหรัฐได้ประกาศตัดสิทธิจีเอสพีต่อไทยแล้ว โดยภาคเอกชนขอเวลาศึกษารายละเอียดประกาศดังกล่าวว่าจะปรับตัวรับผลกระทบอย่างไรดี และจะต้องดูว่าผู้ประกอบการที่เข้าข่ายถูกตัดสิทธิเป็นบริษัทของไทยหรือเป็นบริษัทต่างชาติมาลงทุนตั้งโรงงานในไทย

"อยากฝากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อสหรัฐให้เวลาไทย 6 เดือน ก่อนประกาศตัดสิทธิจะมีผล จึงอยากให้ทุกหน่วยงานเจรจาเรื่องนี้ให้กับภาคเอกชนด้วย" นายกลินท์ กล่าว

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ขอศึกษารายละเอียดของสินค้าที่ถูกสหรัฐตัดจีเอสพีให้ชัดเจนก่อน เพราะมีเอกสารกว่า 20 หน้า ซึ่งในแต่ละสินค้ามีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน ซึ่งเบื้องต้นเท่าที่ดูก็พบว่ากลุ่มอาหารทะเลที่เกี่ยวข้องกับคำประกาศสหรัฐน่าจะครอบคลุมสินค้ากลุ่มปลาและปลาหมึกเป็นหลัก 

ส่วนสินค้ากุ้งไม่น่าจะกระทบเพราะภาษีนำเข้าเป็น 0% อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามสมาคมมีความรู้สึกไม่สบายใจที่ทางสหรัฐอ้างเหตุผลสิทธิเสรีภาพของแรงงานไทยทั้งที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อปกป้องดูแลและให้สิทธิเสรีภาพแรงงานต่างด้าวเท่ากับสิทธิของคนไทย จึงไม่เข้าใจว่าเหตุผลที่สหรัฐยกขึ้นมาเพื่อตัดจีเอสพีสินค้าไทย 

ดังนั้น คำประกาศของสหรัฐนี้ถือเป็นเรื่องวิบากกรรมของสินค้าไทยในกลุ่มนี้ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบหลายด้านทั้งค่าแรง ค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่ที่ผ่านมาภาคการส่งออกของไทยก็ปรับตัวมาตลอดหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเก่าอยู่แล้ว

สรท.เร่งหารือผลกระทบ

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงค์ ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า คงต้องขอเวลาศึกษาคำประกาศของสหรัฐก่อนว่าจะตัดสิทธิจีเอสพีของไทยในกลุ่มสินค้าอะไรบ้าง แต่เท่าที่ได้เห็นเบื้องต้นน่าจะกระทบต่อกลุ่มสินค้าประมงของไทยพอสมควร และคงต้องติดตามดูว่าตัวผู้บริหารของสหรัฐจะประกาศปรับเปลี่ยนอะไรอีกหรือไม่ในที่ให้เวลาไทยอีก 6 เดือนในการตัดสิทธิจีเอสพี ทั้งนี้กลุ่มสินค้าประมงของไทยคงต้องปรับตัวหาช่องทางอื่นในการทำตลาดกันต่อไป

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท.กล่าวว่า สรท.จะประชุมประเมินผลกระทบ รวมถึงแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการทำแผนขยายตลาดอื่น เพื่อชดเชยส่วนแย่งตลาดที่อาจจะหายไปส่วนหนึ่ง ซึ่งเบื้องต้นถูกตัดจีเอสพีจะถูกภาษีนำเข้า 1-5 % แต่มั่นใจว่าผู้ส่งออกสามารถที่จะปรับตัวได้ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2558 อียูเคยตัดสิทธิ์จีเอสพีสินค้าไทยมาแล้ว โดยอ้างรายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยอยู่ในระดับระดับปานปกลางค่อนข้างสูง แต่สุดท้ายผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้ภายใน 2ปี

ห่วงส่งออกสินค้าทะเล

นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่สหรัฐตัดจีเอสพีสินค้าไทยมาจาก 3 สาเหตุ คือ 1.แก้ไขปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐ 2.ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ 3.สหรัฐอ้างเรื่องไทยยังไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผล หากโยงเรื่องอุตสาหกรรมอาหารทะเลแรงงานส่วนใหญ่ของไทยก็เป็นแรงงานต่างด้าวโดยไทยเองก็ดูแลแรงงานต่างด้าวได้เป็นตามกฎหมาย จึงไม่เข้าใจว่าสหรัฐเอาข้อมูลด้านนี้มาจากไหน

การตัดจีเอสพีครั้งนี้สินค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล เพราะมูลค่าสินค้าสินค้านี้เป็น 1ใน 3 ของสินค้าส่งออกไปสหรัฐ ถือว่า กระทบมากพอสมควร อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำคือ ต้องขอคำชี้แจงจากสหรัฐถึงเหตุผลที่นำมากล่าวอ้าง และเร่งชี้แจงในข้อกล่าวหานอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ โดยไม่ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐมากนัก ซึ่งตลาดจีน ที่ยังต้องการอาหารทะเลอีกมาก ตลาดญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นตลาดที่น่าสนใจเพราะอาหารทะเลหลายอย่างผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นยังไม่รู้จักมากนัก