สหภาพ ขสมก.ค้าน "ศักดิ์สยาม" แปรรูปรัฐวิสาหกิจ
สหภาพ ขสมก.รวมตัวยื่นหนังสือถึง "ศักดิ์สยาม" ค้านนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกแผนจัดซื้อรถโดยสาร 3 พันคัน ดึงเส้นทางเดินรถให้เอกชนดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 พ.ย.) เวลาประมาณ 9.00 น. กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เดินทางมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือขอคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้นโยบายทบทวนแก้ไขแผนพื้นฟูของ ขสมก. ทั้งนี้ให้ยกเลิกแผนการจัดซื้อรถโดยสารจำนวน 3,000 คัน เส้นทางเดินรถในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดตามที่เป็นข่าวแล้วนั้น
สหภาพแรงงานรัฐวิสหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้แทนพนักงานตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พศ. 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์รักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ไม่เห็นด้วย และคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดังนี้
ประการที่ 1 ให้องค์การเดินรถในเส้นทางเดิมจำนวน 137 เส้นทาง ส่วนที่เหลือให้เอกชนดำเนินการ โดยไม่ต้องให้กรมการขนส่งทางบกไปกำหนดเส้นทางเดินรถใหม่
ประการที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบาย หรือ คนร. (ซุปเปอร์บอร์ด) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้องค์การจัดหารถใหม่จำนวน 3,00 คัน และปรับปรุงรถค่าจำนวน 323 คันมาแทนรถค่าที่หมดอายุการใช้งาน ให้ดำเนินการตามมติ ครม.
ประการที่ 3 การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ (บอร์ด) โดยอดีตที่ผ่านมารัฐมนตรี ได้แต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถไม่ตรงกับลักษณะการบริหาร ขสมก. ทำให้การบริหารงานไม่เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับ ระเบียบ และวิธีปฏิบัติขององค์การ ดังนั้นการแต่งตั้ง บอร์ด สหภาพแรงงานขอให้แต่งตั้งอดีตผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถในการเดินรถไม่น้อยกว่า 2 คน
ประการที่ 4 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีวัตถุประสงค์บริการคนยากคนจน ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และสนองตอบนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการกำหนดราคาค่าโดยสาร รัฐบาลโดยกระทรวง และกรมการขนส่งทางบกกลาง ได้กำหนดให้องค์การเก็บอัตราค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้องค์การขาดทุนสะสมประมาณ 1.1 แสนล้นบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินดังกล่าวแทนองค์การ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตามมาตรา 11 (วรรค 2)
ประการที่ 5 นโยบายการเกษียณก่อนกำหนด จะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยไม่บังคับขู่เข็น และเลิกจ้างพนักงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เห็นว่าแนวคิดนี้ มิใช้แนวทางแก้ไขปัญหา มีแต่จะสร้างปัญหามากกว่าเดิมปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงขอคัดค้านในเรื่องดังกล่าว และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โปรดพิจารณาดำเนินการตามมติ ครม. พร้อมทั้งแจ้งผลให้สหภาพแรงงานทราบด้วย ภายใน 7 วัน