'สนธิรัตน์' ชู 'ชุมชนผาปัง' ต้นแบบดันเศรษฐกิจฐานรากด้วยพลังงาน
"สนธิรัตน์" ชู "ชุมชนผาปัง" ต้นแบบดันเศรษฐกิจฐานรากด้วยพลังงาน
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่อ.แม่พริก จ.ลำปาง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ชุมชน ต.ผาปัง ในฐานะชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ 'พลังงานชุมชน' ด้วยตนเอง โดยการใช้ประโยชน์จากไผ่ซางหม่น ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่น ในการสร้างพลังงานทดแทนด้วยการแปรรูปเป็นถ่านชีวภาพ (biochar) ทำให้ประหยัดการใช้น้ำมันสูบน้ำเพื่อการเกษตรได้สูง ทั้งยังสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ด้วยการนำมาใช้ทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม ตลอดจนมีการยกระดับจากพลังงานในชุมชนสู่การจัดตั้งบริษัท กิจการเพื่อสังคม โดยมีชุมชนเป็นแกนกลางการขับเคลื่อนต่อยอดให้ไผ่ซางหม่นเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าในด้านอื่นๆ เช่นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตะเกียบ ก้านธูป น้ำยาฆ่าเชื้อราจาก น้ำควันไม้จากการเผาถ่าน ตลอดจนการท่องเที่ยวชุมชน เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอุโมงค์ไผ่ขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ขอชื่นชมความเข้มแข็งและภูมิปัญญาของชุมชนผาปังที่ร่วมกันระดมความคิด สามารถพลิกฟื้นพื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง มาเป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางพลังงานในชุมชนได้ด้วยตนเอง จากการใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่มีไผ่เป็นพืชท้องถิ่นสะท้อนว่า พลังงานเพื่อชุมชน คือสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ได้เป็นเพียงอนุเสาวรีย์ ทั้งสอดคล้องกับนโยบาย Energy for all ของกระทรวงพลังงาน ที่แสดงให้เห็นถึงการมีความหวังโดยไม่ต้องร้องขอ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการว่า ต้องให้ความสำคัญ มีการจัดตั้งงบประมาณพร้อมให้การสนับสนุนชุมชนอื่นๆ ให้ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับชุมชนของตนเอง ด้วยการบูรณาการกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนชุมชนอื่นๆ ให้เกิดการใช้พลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยยกให้ชุมชนผาปังเป็นตัวแบบในการบริหารจัดการเพื่อปลุกเศรษฐกิจฐานรากในปี 2563 ด้วยพลังงาน และยกระดับไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับชุมชนผาปังนั้น มีความมั่นคงทางพลังงาน สามารถลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้จากถ่านชีวภาพได้ 40,000 บาท ต่อไร่ต่อปี ผลิตถ่านปุ๋ยชีวภาพได้ราว 1 แสนบาท มีการยกระดับวิสาหกิจถ่าน สู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เตรียมประกาศเป็นหมู่บ้านไม่มี lpg ในอนาคต นอกจากนี้ยังถือเป็นต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ด้วยการใช้สอยพื้นที่ป่ากว่า 2.4 หมื่นไร่ จนสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 2,500 คนต่อปี โดยระหว่างปี 2558 -2562 สามารถสร้างรายได้สูงถึง 11 ล้านบาท