'เงินบาทแข็ง' เป็นเรื่องน่า 'ภูมิใจ' หรือ 'กังวลใจ'?
มาไขคำตอบกับประเด็น "เงินบาทแข็ง" ดีกับไทยหรือไม่ ในเมื่อไทยส่งออกมากกว่านำเข้า แล้วทำไมเศรษฐกิจถึงยังมีปัญหาอยู่?
ในกรณีเช่นนี้มันจะเป็นเรื่องที่ดีไม่มีปัญหา ถ้าค่าเงินที่แข็งขึ้นของประเทศนั้น มันเผอิญตรงกับวัฏจักรเศรษฐกิจหรือการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาคไปในทิศทางที่ดีเป็นที่ต้องการ เช่น ค่าของเงินแข็ง เศรษฐกิจเติบโตที่สูง การจ้างงานเต็มที่ การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพระยะยาวก็สูง แม้ค่าจ้างสูงขึ้นแต่ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่ลดลงจากค่าของเงินที่แข็งขึ้น เช่น กรณีตัวอย่างหลังสงครามค่าของเงินเยนของญี่ปุ่นและเงินมาร์คของเยอรมนีที่แข็งขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจทางผลิตภาพและนวัตกรรม
ในความเป็นจริงเราต้องมาดูว่าค่าของเงินที่แข็งขึ้น รวมทั้งการที่ประเทศมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล มีเงินสำรองสะสมจำนวนมากนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร?
ในอดีตมีประเทศที่เคยมีค่าของเงินแข็งขึ้นเพราะขุดพบทรัพยากร เช่น น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ เช่นกรณีของเนเธอร์แลนด์ในทศวรรษ 80 ส่งผลต่อการส่งออกและการเข้ามาของทุนต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจนค่าของเงินกิลเดอร์สูงขึ้นมาก จนไปกระทบความสามารถในการส่งออกภาคอุตสาหกรรม จนนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าโรคของชาวดัตช์ (Dutch disease) นี่เป็นตัวอย่างผลเสียของค่าของเงินที่แข็งขึ้นหรือแข็งมากเกินไป
ค่าของเงินมาร์คเยอรมันที่แข็งมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในยุโรป สร้างปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจด้านต่างประเทศ และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของเยอรมนีด้วย เยอรมนีได้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นเงินเดียวกันคือเงินสกุลยูโร แก้ปัญหาของเงินมาร์คที่แข็งมาตลอด (แต่ในที่สุดประเทศอื่นๆ ที่อ่อนแอกว่าเยอรมนีก็เสียเปรียบ)
งานวิจัยของ Dani Rodrik ศึกษากับหลายประเทศ พบว่าประเทศที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงมีค่าอ่อนกว่าความเป็นจริง (undervalued real exchange rate) เช่น จีนทำกับสหรัฐมาตลอด จะทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในกรณีของไทย หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หลังจากนั้นประมาณครึ่งศตวรรษ ฐานะเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศของไทย จัดว่ามีความมั่นคง มีเสถียรภาพดีขึ้นมาตลอด
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาต่อเนื่อง การส่งออกในสินค้าและบริการมากกว่าการนำเข้าโดยนัย เราผลิตได้มากกว่าเราใช้เอง เราผลิตให้คนอื่นใช้ เราออมมากกว่าที่ใช้ลงทุนภายในประเทศ ในแต่ละปีเราเริ่มเป็นเจ้าหนี้ แม้ว่าวันนี้ฐานะสุทธิ เรายังมี stock หรือยอดคงค้างของหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน แต่เรามีทุนสำรองถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ถ้าคิดเทียบต่อ GDP ต้องจัดว่าสูงมากประเทศหนึ่งในโลก
อย่างไรก็ตาม การมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลของเราเกิดขึ้นในบริบทที่เศรษฐกิจของเราโตในอัตราที่ต่ำกว่าในอดีต คือเฉลี่ยที่ผ่านมาอยู่ที่ 3-4% เมื่อเทียบกับ 6-7% ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเกิดขึ้นในบริบทที่ภาคของเอกชนลงทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต (การลงทุนต่ำ ความเจริญเติบโตก็ต่ำ การนำเข้าก็ต่ำ) ซ้ำร้ายกว่านั้นผลิตภาพของแรงงานต่ำ เรากินของเก่าไม่มีนวัตกรรม ค่าจ้างคนงานก็ต่ำ คุณภาพทุนมนุษย์ต่ำ เราอาศัยแรงงานราคาถูกจากเพื่อนบ้าน ซึ่งฉุดค่าจ้างเฉลี่ยและคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย ไม่น่าแปลกใจทำไมเราถึงติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง
ฐานะเงินบาทของไทยที่แข็งขึ้น เงินสำรองที่สูงขึ้น ภาคสถาบันการเงินแข็งแกร่งขึ้นจะไม่มีความหมายเลย ตราบใดที่เราไปไม่ถึงดวงดาวทางด้านคุณภาพของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง คือ ผลิตภาพของแรงงานและทุนที่สูงขึ้น การกระจายรายได้และความมั่งคั่ง ไม่มีความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไป คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกๆ ด้าน