“สื่อสาร” พุ่งรับแจกเน็ตฟรี -สบช่องต่อยอดบริการ
หลายหน่วยงานยังคงเร่งเดินหน้าออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ที่ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา
นำทีมโดยรัฐบาลที่ล่าสุด ครม. ไฟเขียวอนุมัติมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจชุดที่ 3 มูลค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉนับ ได้แก่ พ.ร.ก.กู้เงินของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.ให้อำนาจแบงก์ชาติออกซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชน 4 แสนล้านบาท ถือเป็นยาหม้อชุดใหญ่มากู้วิกฤต
ขยับไปดูภาคส่วนอื่นบ้าง อย่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จับมือค่ายมือถือและผู้ให้บริการโครงข่าย แจกอินเตอร์เน็ตมือถือจำนวน 10 GB พร้อมอัพความเร็วอินเตอร์เน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ให้กับผู้ใช้บริการฟรีเป็นเวลา 30 วัน
สอดรับกับนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของรัฐบาลที่สนับสนุนให้พนักงานบริษัท ห้าง ร้านต่างๆ หยุดทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส รวมทั้งรองรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องเรียนหนังสือออนไลน์ ซึ่งเริ่มต้นดีเดย์ไปแล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (10 เม.ย.)
โดยเปิดให้ประชาชนกดรับสิทธิเน็ตฟรีตั้งแต่เวลา 08.00 น. ด้วยการกด *170* ตามด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ตามด้วยเครื่อง # และกดโทรออก โดยจะได้รับสิทธิ์ 1 คนต่อ 1 เบอร์โทรศัพท์ สงวนสิทธิ์เฉพาะคนไทยเท่านั้น
ครอบคลุมผู้ใช้บริการในระบบเติมเงินทั้งหมด ส่วนผู้ใช้บริการระบบรายเดือนจะต้องใช้แพ็คแพจอินเตอร์เน็ตไม่เกิน 10 GB ซึ่งเบื้องต้น กสทช. คาดว่าจะมีประชาชนที่เข้าข่ายได้รับสิทธิ์ประมาณ 30 ล้านเลขหมาย
ส่วนการเพิ่มความเร็วอินเตอรเน็ตบ้าน ผู้ให้บริการจะเพิ่มสปีดเป็น 100 Mbps ตามความสามารถสูงสุดที่ระบบโครงข่ายของแต่ละบ้านจะรองรับได้ให้อัตโนมัติโดยไม่ต้องลงทะเบียน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเปิดใช้บริการภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 1.2 ล้านครัวเรือน
โดย กสทช. จะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการค่ายมือถือและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์กว่า 3 พันล้านบาท
ถือเป็นจิตวิทยาเชิงบวกให้กับหุ้นกลุ่มสื่อสาร เพราะหลังมีมาตรการออกมาน่าจะทำให้การแข่งขันลดลง เนื่องจากครอบคลุมทุกค่ายมือถือ ลูกค้ามีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน โดยหากดูตามฐานลูกค้าค่ายมือถือ ณ สิ้นปี 2562 ค่าย “เอไอเอส” ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC มีจำนวนลูกค้ามากที่สุดรวม 42 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ลูกค้ารายเดือน 9.1 ล้านเลขหมาย และเติมเงิน 32.9 ล้านเลขหมาย
“ทรู” บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ตามมาเป็นอันดับสอง มีลูกค้าทั้งหมด 30.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นระบบรายเดือน 8.3 ล้านเลขหมาย และเติมเงินอีก 22.3 ล้านเลขหมาย ส่วน “ดีแทค” บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC มีลูกค้ารวม 20.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้ารายเดือน 6.4 ล้านเลขหมาย และเติมเงิน 14.2 ล้านเลขหมาย โดยสัดส่วนลูกค้าที่จะได้รับสิทธิ์จะลดหลั่นกันไปตามมาร์เก็ตแชร์
ส่วนบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 มีค่าย “ทรู” เป็นเจ้าตลาดด้วยจำนวนลูกค้า 3.8 ล้านราย ตามด้วย “3BB” ของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS มีลูกค้าใช้บริการ 3.18 ล้านราย และ “เอไอเอสไฟเบอร์” มีลูกค้า 1.03 ล้านราย
แน่นอนว่ามาตรการที่ออกมาคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ ผู้ใช้บริการ ขณะที่เจ้าของโครงข่ายอาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง แต่เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ได้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้น ทำให้ลูกค้าคุ้นเคยกับบริการ กลายเป็นโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการต่อไปในอนาคต
สะท้อนจากราคาหุ้นที่บวกขึ้นมารับข่าว นำทีมด้วย TRUE ปิดที่ 3.34 บาท เพิ่มขึ้น 0.12 บาท หรือ 3.73% , ADVANC ปิดที่ 192.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 0.79% และ DTAC ปิดที่ 40.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 3.87% ส่วน JAS ปิดไม่เปลี่ยนแปลง 5.25 บาท