เมื่อ 'เศรษฐกิจโลก' พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เมื่อ 'เศรษฐกิจโลก' พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ใครจะเชื่อว่า เหตุการณ์เดียวสามารถพลิกเศรษฐกิจทั่วโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้มาเป็นเศรษฐกิจโลกที่กําลังถดถอย

ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรงสุดตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจโลกตกตํ่ารุนแรงเมื่อปี1930s กระทบทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกําลังพัฒนา ทําให้เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวติดลบจากที่เคยประเมินว่าจะขยายตัว 2.3% ปลายปีที่แล้ว และถ้าเศรษฐกิจโลกปีหน้าฟื้นตัว การฟื้นตัวก็อาจอ่อนแอและเปราะบาง

ในทางเศรษฐศาสตร์ การระบาดของไวรัสโควิดเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจแบบ unknown unknown คือเป็นความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดมาก่อน และเมื่อเกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร ช่วงต้นเดือน ม.ค. เมื่อมีข่าวแพร่ระบาดของไข้หวัดโควิดครั้งแรกในจีน ตลาดการเงินมองว่าน่าจะเป็นเรื่องเฉพาะจุดในจีนและความรุนแรงของโรคต่อสุขภาพจะตํ่ากว่าโรคซาส์ที่เคยระบาดที่สามารถควบคุมได้ แต่ 3 เดือนให้หลังความเข้าใจนี้กลับตาลปัตร คือไข้หวัดโควิดได้ระบาดอย่างรวดเร็วและกลายเป็นวิกฤติสาธารณสุขที่การระบาดกระจายไปทั่วโลก และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมาก โดยเฉพาะจากมาตราการลดการระบาดด้วยการหยุดการติดต่อ (social distancing) ปิดพรมแดนและปิดประเทศที่เกือบทุกประเทศต้องทําเพราะจําเป็นและสําคัญมากต่อการลดการระบาดเนื่องจากยังไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีนป้องกัน 

ผลคือเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก มีการประเมินว่าการผลิตในจีนลดลง 40% ในไตรมาสแรกปีนี้ ที่สหรัฐคาดว่าการผลิตในไตรมาส 2 อาจลดลง 30% นี่คือเศรษฐกิจอันดับ 2 และอันดับ 1 ของโลก ที่สหรัฐจํานวนคนตกงานที่ถูกกระทบจากการทรุดตัวของเศรษฐกิจและต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมีมากถึง 16 ล้านคน แสดงถึงความยากลําบากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน ในแง่ตลาดการเงินตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงกว่า 20% นี่คือความมั่งคั่งของเศรษฐกิจโลกที่ได้ถูกทําลายไป เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเร็วมากและเร็วกว่าคราวภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งรุนแรงสุดของโลกเมื่อ 90 ปีก่อน

เหตุผลหลักที่ทําให้วิกฤติคราวนี้ต่างจากและรุนแรงกว่าวิกฤติครั้งก่อนๆ ก็เพราะเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกัน การแก้ไขและป้องกันการระบาดก็มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ ทําให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจยิ่งรุนแรงมากขึ้น ที่สําคัญความไม่แน่นอนของปัญหาทําให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องทุ่มทรัพยากรอย่างสุดตัวในการแก้ปัญหา ทั้งการรักษาผู้ป่วย ดูแลความปลอดภัยของหมอและพยาบาลที่อยู่แนวหน้า ระงับการระบาดด้วยมาตรการต่างๆ เยียวยาผู้ที่ถูกกระทบ และประคับประคองระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศให้สามารถทํางานได้ต่อไปเพื่อช่วยให้ระบบการผลิตของประเทศกลับมาฟื้นตัวได้เร็วเมื่อการระบาดจบลง

ผลคือบทบาทภาครัฐในทุกประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เกิดขึ้นทั้งในประเทศใหญ่และประเทศเล็ก ชี้ให้เห็นถึงความสําคัญของความเข็มแข็งด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจที่ประเทศต้องมีในการตั้งรับกับความไม่แน่นอนและปัญหาเมื่อประเทศมีวิกฤติ

ในยุโรป ประเทศที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจจากผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 มีหนี้สาธารณะสูง อย่างอิตาลีและสเปน ความสามารถในการตั้งรับกับปัญหาอาจทําได้ไม่เต็มที่ ขณะที่การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยกันก็มีข้อจํากัด เพราะต่างคนต่างต้องการสงวนทรัพยากรของตนไว้เพื่อแก้ไขปัญหาของตน 

กรณีประเทศกําลังพัฒนาก็เช่นกัน ความพร้อมด้านสาธารณสุขที่จะตั้งรับกับปัญหามีจํากัด ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศก็ถูกกระทบมากจากตลาดส่งออกและตลาดท่องเที่ยวที่หดตัว ราคาสินค้าเกษตรตกตํ่า และเงินลงทุนต่างประเทศไหลออก ทำให้ความสามารถที่จะดูแลตัวเองและแก้ไขปัญหามีตํ่าและต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก ล่าสุด ไอเอ็มเอฟ รายงานว่ามีประเทศกําลังพัฒนากว่า 90 ประเทศที่ติดต่อมาว่าอาจจําเป็นต้องขอความช่วยเหลือ แสดงให้เห็นว่าผลกระทบของวิกฤติคราวนี้ที่รุนแรงได้ส่งผลไปทั่วโลก

ในกรณีของเอเซีย ล่าสุด สํานักงานเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม (AMRO) ที่สิงค์โปร์ได้ออกรายงานว่า ผลกระทบของวิกฤติโควิดต่อเศรษฐกิจเอเชียปีนี้จะมาก จาก 13 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Asean+3 มี 4 ประเทศที่การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ และไทย สําหรับฮ่องกงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีน การขยายตัวปีนี้ก็จะติดลบเช่นกัน ในภาพรวม สํานักงานคาดว่าเศรษฐกิจประเทศอาเซียนบวกสาม ปีนี้จะขยายตัว 2% ตํ่ากว่า 4.8% ปีที่แล้ว สําหรับไทยปีนี้จะขยายตัวตํ่าสุดในกลุ่มคือ หดตัว 6% ใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวติดลบ 5.3% เพราะปัจจัยลบปีนี้มีมากไม่ว่าจะเป็น ไข้หว้ดโควิด ภัยแล้ง ไฟป่า เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ความล่าช้าของงบประมาณ ที่สําคัญการดําเนินนโยบายแก้ไขปัญหาปีนี้ถ้าทําได้ไม่ดีพอ เศรษฐกิจก็อาจหดตัวมากกว่าที่ประมาณการกันขณะนี้ ทําให้การฟื้นตัวจะช้าหรืออาจไม่เกิดขึ้นในปีหน้า

สําหรับเศรษฐกิจโลก คําถามสําคัญขณะนี้มีอยู่ 2 คําถามคือ 1.มาตรการลดการระบาดด้วยการปิดเมือง ปิดประเทศ จะต้องทํานานอีกเท่าไรกว่าที่การระบาดจะเริ่มสงบลง และ 2.ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมาตรการดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นอีกแค่ไหน ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่มีใครให้คําตอบได้เพราะความรู้เรื่องการระบาดของไวรัสตัวนี้ยังไม่ดีพอ มีความเสี่ยงที่การระบาดอาจประทุขั้นอีกเป็นรอบๆ และขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนในสังคมในการให้ความร่วมมือกับมาตรการลดการระบาดต่างๆ ทั้งหมดคือความไม่แน่นอนที่จะมีผลอย่างมากต่อเศkรษฐกิจ แต่ที่ชัดเจนคือแม้การระบาดจะยุติลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาเพราะพฤติกรรมของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตจะเปลี่ยนไป และเราจะกลับเข้าสู่เศรษฐกิจโลกที่จะไม่เหมือนเดิม