หุ้นกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจไม่ติด 'โควิด'
ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ! หลังเผชิญการระบาดโควิด-19 ทว่าหนึ่งในธุรกิจ 'ดาวเด่น' สร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอ ต้องยกให้'โรงไฟฟ้า & พลังงานทดแทน' บ่งชี้ผ่านผลประกอบการไตรมาส1 สะเทือนน้อยสุด! '6 บิ๊กเอกชน' พร้อมใส่เกียร์เดินหน้าลงทุน หากเหตุการณ์คลี่คลาย
ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอย ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าท้ายครั้งใหญ่ ในยุคการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เหล่าผู้ประกอบการใน 'บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย' (บจ.) หลากหลายอุตสาหกรรมกำลัง 'เจ็บตัวไม่น้อย' หลังบางธุรกิจได้รับผลกระทบเล็กน้อยไปจนถึงระดับถูกแช่แข็ง สืบเนื่องจาก 'มาตรการปิดเมือง' (Lockdown)
ปฏิกิริยาแรกที่ได้เห็นคือ ภาพของการ 'ปรับลดลง' ของ 'ยอดขาย-กำไรสุทธิ' ที่โชว์ตัวเลขออกมาในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ผ่านมา และตามมาด้วยไตรมาส 2 นี้ ที่คาดว่าจะ 'รุนแรงสุด' ของปีนี้ ฉะนั้น สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการปรับลดเป้าหมายตัวเลขผลประกอบการปี 2563 เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบของโควิด-19 !
แต่มีลบก็ต้องมีบวก! ตามสัจธรรมโลก และหนึ่งใน 'ดาวเด่น' ต้องยกให้กับ 'ธุรกิจโรงไฟฟ้า & พลังงานทดแทน' ที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่สามารถเขย่าบัลลังก์ธุรกิจให้สะเทือนได้... สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ยังเห็นภาพการ 'เติบโต' ของธุรกิจ สวนทางกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
สอดคล้องผ่านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทน ที่มี 'กำไรสุทธิ' ในช่วงปี 2561-2562 เติบโต อาทิ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ของ 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' ที่มีกำไรสุทธิ 3,028.13 ล้านบาทในปี 2561 กำไรสุทธิ 4,886.56 ล้านบาท ในปี 2562
บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 'บมจ. ปตท. หรือ PTT' กำไรสุทธิ 3,359.19 ล้านบาทในปี 2561 และกำไรสุทธิ 4,060.80 ล้านบาทในปี 2562
บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM ของ 'กลุ่มฮาราลด์ ลิงค์' กำไรสุทธิ 1,862.81 ล้านบาทในปี 2561 และกำไรสุทธิ 2,331.15 ล้านบาทในปี 2562
สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น บมจ. บีซีพีจี หรือ BCPG ของ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 'บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP' กำไรสุทธิ 2,219.23 ล้านบาทในปี 2561 และกำไรสุทธิ 1,801.42 ล้านบาทในปี 2662
บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP ของ 'กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์' กำไรสุทธิ 323.78 ล้านบาทในปี 2561 กำไรสุทธิ 1,393.52 ล้านบาทในปี 2562 และ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง หรือ TPCH ของ 'กลุ่มจันทร์พลังศรี' กำไรสุทธิ 353.90 ล้านบาทในปี 2561 กำไรสุทธิ 359.51 ล้านบาทในปี 2562
ล่าสุด ไตรมาส 1 ปี 2563 ของ หุ้น GULF มี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ -413.25 ล้านบาท (ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) GPSC มีกำไรสุทธิ 1,579.89 ล้านบาท BGRIM มีกำไรสุทธิ 80.71ล้านบาท ธุรกิจพลังงานทดแทน BCPG มีกำไรสุทธิ 573.69 ล้านบาท TPIPP มีกำไรสุทธิ 403.41 ล้านบาท และ TPCH มีกำไรสุทธิ 85.72 ล้านบาท
ตารางผลประกอบการย้อนหลัง 'กลุ่มโรงไฟฟ้า'
ขณะที่ในไตรมาส 1 ของปี 2563 'ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (Market Cap) ของ หุ้น GULF หุ้น GPSC หุ้น BGRIM หุ้น BCPG หุ้น TPIPP และ หุ้น TPCH เพิ่มขึ้นเช่นกันหากเทียบกับต้นปี 2563 โดยมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 354,127.80 ล้านบาท 241,791.79 ล้านบาท 136,862.25 ล้านบาท 32,382.05 ล้านบาท 26,852.70 ล้านบาท และ 5,015.00 ล้านบาท
ผ่านมากว่า 6 เดือน Market Cap หุ้น GULF หุ้น GPSC หุ้น BGRIM หุ้น BCPG หุ้น TPIPP และ หุ้น TPCH เป็น 397,327.12 ล้านบาท 221,348.76 ล้านบาท 140,120.88 ล้านบาท 34,382.30 ล้านบาท (ลดลง) 24,551.04 ล้านบาท (ลดลง) และ 4,854.52 ล้านบาท (ลดลง)
ปัจจุบัน หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทน ซึ่งถือเป็น 'หุ้น Defensive' มีรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคงแน่นอนไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจจึงทำให้ได้รับความสนใจจาก “นักลงทุน” เข้ามาลงทุนกันอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
'แนวโน้มกำไรปกติของกลุ่มโรงไฟฟ้ายังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงปี 2562–2564 จากการมีโรงไฟฟ้าใหม่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อย่างต่อเนื่อง'
สอดคล้องกับ 'ปฐมพล สาวทรัพย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไทยโพลีคอนส์ หรือ TPOLY บริษัทแม่ของ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง หรือ TPCH ที่เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น อย่าง ธุรกิจท่องเที่ยว , ธุรกิจโรงแรม , ธุรกิจสายการบิน เป็นต้น สะท้อนผ่านบริษัทลูกอย่าง TPCH ที่เปิดโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าปัตตานี กรีน ที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ตำบล ลิปะสะโง อำเภอ หนองจิก จังหวัด ปัตตานี ไปเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา
'ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าถือเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดและสภาพคล่องให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก และเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำเข้ามาตลอด'
'เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH เล่าเพิ่มเติมว่า บริษัทจะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของกระทรวงพลังงานล็อตแรก จำนวน 100 เมกะวัตต์ (MW) โดยบริษัทคาดหวังจะได้กำลังการผลิตจากโครงการดังกล่าวประมาณ 50 MW
ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาหารือและหากมีผลการอนุมัติคาดว่าจะสามารถเริ่มยื่นประมูลได้ภายในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ทาง กกพ.ได้พิจารณาเตรียมออกหลักเกณฑ์และประกาศแผนการเข้าประมูลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทได้ลงพื้นที่เพื่อหารือกับวิสาหกิจชุมชนแล้ว
ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบระบบของโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลทีพีซีเอช เพาเวอร์1 (TPCH 1) กำลังการผลิต 10 MW , โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์2 (TPCH 2) กำลังการผลิต 10 MW และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH 5) กำลังการผลิต 6 MW
'คาดว่าโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในไตรมาส 3 ปี 2563 โดยโรงไฟฟ้า TPCH 1, 2 จะจ่ายไฟเข้าระบบภายในเดือนก.ค. และโรงไฟฟ้า TPCH 5 จะจ่ายไฟเข้าระบบในเดือนก.ย.นี้ อย่างไรก็ตามทั้ง 3 โครงการดังกล่าวล่าช้ากว่าแผนเดิมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเจ้าหน้าที่วิศวกรจากต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางมาตรวจรับงานได้ตามกำหนด'
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายในการมีใบอนุญาตในการขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขยะให้ครบ 250 MW โดยแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 200 MW และโรงไฟฟ้าจากขยะ 50 MW ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีใบ PPA โรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว 110 MW และจะต้องหาเพิ่มอีก 90 MW จากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ส่วนโรงไฟฟ้าขยะมีใบ PPA แล้ว 10 MW และอยู่ระหว่างก่อสร้างเพิ่มอีก 40 MW
'สำหรับเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 40% จากปีก่อนที่อยู่ 1,669.15 ล้านบาท มาจากการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้า COD ของโรงไฟฟ้าเดิม และ โรงไฟฟ้าใหม่ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือจำนวน 60 เมกะวัตต์ และ จะเพิ่มเป็น 119 เมกะวัตต์ปลายปีนี้'
'ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP เล่าให้ฟังว่า สำหรับแนวโน้มของ 'ธุรกิจพลังงานโรงไฟฟ้า' ยังเห็นทิศทางการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่าน 'ความต้องการ' (ดีมาสนด์) ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ในส่วนของแผนธุรกิจปี 2563 จากการระบาดของโควิด-19 นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนของบริษัท เพราะบริษัทไม่รีบเร่งการลงทุนในช่วงที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด ประกอบกับการลงทุนใหม่ๆ ยังมีระยะเวลาการลงทุนได้อีกมากกว่าที่จะเริ่ม 'จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์' (COD) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2-3 ปี ทำให้มองว่าหากสถานการณ์ของโควิด-19 คลี่คลายก็มีโอกาสที่จะกลับมาลงทุนได้ต่อ
โดยปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุน 47,000 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและติดตั้งหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นหลัก ส่วนที่เหลือจะใช้รองรับโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ซึ่งคาดว่าปีนี้ปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น 20% ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อีกทั้งบริษัทยังมีแผนเข้าร่วมการประมูล 'โรงไฟฟ้าอีก 5 โครงการ' แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าประเภท VSPP จำนวน 4 โครงการ และ SPP จำนวน 1 โครงการ คาดหวังชนะการประมูลประมาณ 4 โครงการ และหากชนะคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยหนุนกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันผลิตได้ 440 เมกะวัตต์
สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) บริษัทยังต้องรอความชัดเจนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้านคดีความทางกฎหมายโครงการโรงไฟฟ้า TG8 ยังอยู่ในกระบวนพิจารณาคดี โดยบริษัทยืนยันว่าได้ดำเนินการทำ EHIA ตามขั้นตอนกฎหมาย
'เป้าหมายรายได้ปีนี้อยู่ที่ระดับ 13,000 ล้านบาท !'
ด้าน 'บัณฑิต สะเพียรชัย' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บีซีพีจี หรือ BCPG เล่าให้ฟังว่า แนวโน้มอุตสาหกรรม 'พลังงานทดแทน' ยังเติบโต แม้ว่าปีนี้บริษัทจะปรับลดวงเงินลงทุนเหลือ 8,000-15,000ล้านบาท จากเดิมที่คาดจะใช้เงินลงทุน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าต้องล่าช้าออกไป เพราะมีการส่งสินค้าที่ล่าช้าจากประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม งบลงทุนในช่วง 5 ปี บริษัทยังคงเป้าว่าจะใช้เงินลงทุน 45,000 ล้านบาท ซึ่งจะเลื่อนจากการใช้ในปี 2563 ออกไปเป็นในปี 2564 มากขึ้น และยังคาดว่ากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเติบโต 75% ซึ่งเฉลี่ยทุกๆปี EBITDA จะเติบโต 15%
โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 841เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นเป็นโครงการโซลาร์ ฟาร์มที่ประเทศไทย จำนวน 142 MW และพลังงานลม จำนวน 9 MW อีกทั้งยังมีโครงการโซลาร์ รูฟท็อฟที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 15.5 MW ขณะเดียวกันมีโครงการโซลาร์ ฟาร์ม ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่จ่ายไฟเข้าระบบแล้ว จำนวน 14 MW และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 75 MW
ทั้งนี้ บริษัทคาดกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)ในปี 2563 จะเติบโตจากปี 2562 ประมาณ 20% จากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าที่ สปป.ลาว ได้แก่เขื่อน Nam San 3A ซึ่งจะเริ้มรับรู้รายได้แบบเต็มปีในปีนี้ และเขื่อน Nam San 3B โดยบริษัททำการรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนก.พ. 2563 รวมกำลังผลิต 114 MW
นอกจากนี้ มีโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพที่อินโดนีเซีย จ่ายไฟเข้าระบบแล้ว 157 MW และกำลังก่อสร้างส่วนเพิ่มอีก 24 MW ประกอบกับมีโรงไฟฟ้าพลังงานที่สปป.ลาว จ่ายไฟเข้าระบบและรับรู้รายได้แล้วจำนวน 114 MW และพลังงานลมที่กำลังก่อสร้างอีก 270 MW ส่วนที่ฟิลิปปินส์พลังงานลมจ่ายไฟแล้ว 14.4 MW และกำลังก่อสร้างอีก 5.6 MW
พลังงานลม
'ปรียนาถ สุนทรวาทะ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM บอกว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ จำนวน 2-3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสในการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานทดแทนอื่นๆ อีก
โดยบริษัทยังคงแผนการลงทุนในปีนี้ ด้วยงบวงเงิน 16,000-18,000 ล้านบาท และงบลงทุน 5 ปี วงเงิน 70,000-75,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินมาจากเงินกู้ในสัดส่วน 70-78% ของเงินลงทุนดังกล่าว ทำให้ในปีนี้บริษัทจะต้องใช้เงินส่วนทุน จำนวน 6,000-8,000ล้านบาท ขณะที่เงินลงทุน 5 ปี จะใช้เงินส่วนทุน จำนวน 16,000-17,000 ล้านบาท
แม้ว่าบริษัทมีแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ยืนยันว่าจะไม่มีนโยบายเพิ่มทุน เพราะมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 21,000 ล้านบาท และในช่วงปลายปี 2562 ได้ออกหุ้นกู้ วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุนเพียง 1.1 เท่า จากนโยบายที่บริษัทกำหนดไม่เกิน 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม คาดรายได้และกำไรสุทธิปี 2563 จะใกล้เคียงหรือจะดีกว่าในปี 2562 ที่มีรายได้จาก โดยในปีนี้จะรับรู้ผลประกอบการของโซลาร์ ฟาร์มที่เวียดนาม 677 เมกะวัตต์แบบเต็มปี ขณะที่รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และการไฟฟ้าเวียดนามจะไม่มีผลกระทบต่อความต้องการ ส่วนกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบของการชะลอการผลิตในเดือนเม.ย. แต่ ล่าสุดในเดือนพ.ค. ได้เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว
+++++++++++++++++++++++++
โบรกฯ มองโควิด-19
กระทบกลุ่มโรงไฟฟ้าน้อย!
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) บอกว่า ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มโรงไฟฟ้า 'เท่ากับตลาด' และแนะนำให้ 'ซื้อสะสม' หลังผลกระทบ 'จำกัด' ต่อผลประกอบการในอนาคตของกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ภายใต้สมมติฐานโควิด-19 สามารถคลี่คลายขึ้นภายในปี 2563
โดยโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPPs) จะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีสัญญาซื้อขายไฟระยะยาว (PPA) กับการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยแต่โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPPs) จะได้รับผลกระทบบ้างเนื่องจากมีขายไฟฟ้าโดยตรงให้บริษัทเอกชน (ประมาน 20% ของกำลังการผลิต) ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ (hydro power plant) จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลิตไฟฟ้าได้น้อย อย่างไรก็ตามสามารถแจ้งขายไฟฟ้าชดเชยในปีที่น้ำมากได้ทำไห้ระยะยาวผลกระทบมีจำกัด
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อปัจจัยเสี่ยงมีจำกัดธุรกิจไฟฟ้ามีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับภาครัฐรองรับทำให้ผลกระทบต่อผลประกอบการจากความเสี่ยงต่างๆ นั้นต่ำ (เศรษฐกิจและภัยแล้ง) โดยผลกระต่อ portfolio ของบริษัทตามสัดส่วนประเภทโรงไฟฟ้าแบ่งเป็น 1.เน้นพลังงานทดแทน (พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม) ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภัยแล้ง 2. เน้นโรงไฟฟ้าก๊าซ SPP และ IPP ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยไฟฟ้าส่วนใหญ่ขายให้กับภาครัฐ (SPP 80%, IPP 100%)
ส่วนภาวะภัยแล้งผลกระทบมีจำกัดเนื่องจากแต่ละโรงไฟฟ้ามีบ่อน้ำสำรองควบคู่กับการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนคาดมีน้ำเพียงพอจนถึงฤดูฝนปี 2563 และ 3. โรงไฟฟ้าพลังน้ำได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ตามเราประเมินเป็น extra event และบริษัทที่ทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถขายไฟฟ้าชดเชยในปีที่น้ำมีมากได้ ทำให้ผลกระทบต่อ cash flow ตลอดโครงการมีจำกัด
อย่างไรก็ตาม ประเมินเป็นจังหวะเข้าซื้อสะสมหุ้นกลุ่มไฟฟ้า หุ้นหลายตัว valuation น่าสนใจ ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจและภัยแล้ง ประเมินไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของกลุ่มบริษัทไฟฟ้าในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันหุ้นที่เราดูแลอยู่และ valuation น่าสนใจ