สศค.ดึงข้อมูลดาวเทียม ประเมินภาพเศรษฐกิจ
สศค. เล็งใช้ข้อมูลดาวเทียม-ความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจน มาชี้วัดกิจกรรมเศรษฐกิจ เหตุสะท้อนกิจกรรมเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น โดยล่าช้าเพียงแค่ 2-3 วัน ต่างจากดัชนีชี้วัดในปัจจุบันที่ล่าช้าถึง 1 เดือน
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างศึกษาการนำข้อมูลดาวเทียมและความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ มาใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจที่จะเป็นปัจจุบันมากขึ้น
“การใช้ข้อมูลดังกล่าว จะช่วยให้สศค.สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและสามารถประมวลผลข้อมูลในเชิงพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการติดตามภาวะเศรษฐกิจล่าสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจทั่วไปอาจมีความล่าช้าหรือไม่สามารถจำแนกในเชิงพื้นที่ได้”
นายนรพัชร์ อัศววัลลภ ผู้อำนวยการส่วนวิเทศและสถาบันสัมพันธ์ กล่าวว่า โดยปกติแล้ว สศค.ทำการประเมินผลเศรษฐกิจในทุกเดือน แต่เป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ล่าช้าไป 1 เดือน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สศค.ได้ทำดัชนีใหม่ คือ Regional Sentiment Index เป็นการสำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ทำให้เราได้ข้อมูลเศรษฐกิจที่เร็วขึ้น แต่ก็เป็นเพียงภาพรวม
ทั้งนี้ การศึกษาเพื่อนำข้อมูลดาวเทียมและความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เราสามารถได้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจที่อาจล่าช้าเพียง 2 -3 วันเท่านั้น
สำหรับข้อมูลสารสนเทศจากดาวเทียมที่จะนำมาใช้ประโยชร์ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย คือ ความสว่างของแสงกลางคืน ( Nighttime Light) พื้นที่อาคาร ( Building Area) สถานที่ที่เป็นจุดสนใจ ( Point of Interest) และความยาวของถนน ( Road Length)
ทั้งนี้ สศค.ได้ทำการเปรียบเทียบแสงกลางคืน ของวันที่ 31 ธ.ค.2562 กับ วันที่ 31 มี.ค. 2563พบว่า ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ความสว่างของแสงกลางคืนลดลงทุกภูมิภาค โดยภาคตะวันตกลดลงมากสุด 86.79% รองลงมา คือ ภาคกลาง ลดลง 85.13% ส่วนกรุงเทพและปริมณฑล ลดลง 50.62 %
ส่วนสถานที่ที่เป็นจุดสนใจ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ร้านสะดวกซื้อ ท่าเรือ แหล่งท่องเที่ยว ที่ทำการไปรษณีย์ ห้องน้ำ ตู้เอทีเอ็ม ร้านขายยา สถานศึกษา สถานที่ราชการ ธนาคาร และโรงพยาบาล เป็นต้น การสำรวจในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ พบว่า ภาคเหนือมีจำนวนสถานที่ที่เป็นจุดสนใจมากที่สุด จำนวน 22,518 แห่ง และมีจำนวนสถานที่เป็นจุดสนใจต่อประชากรสูงสุดที่ 19.2 แห่งต่อประชากร 10,000 คน
สำหรับการติดตามภาวะเศรษฐกิจจากความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่มีสีน้ำตาลแดง เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสวิล หรือน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ดังนั้น จึงเป็นก๊าซที่สามารถตรวจพบได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการจราจร ซึ่งมีการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงและกิจกรรมการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการเผาไหม้สูง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปูนซีเมนต์ และโรงไฟฟ้าถ่ายหิน เป็นต้น