รู้ทัน 'ดิจิทัล' ทักษะสำคัญใน EEC
ทักษะความเป็นพลเมืองดิจิทัล หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของพัฒนาการตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งโครงการ EEC เป็นโครงการที่รัฐพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดนักลงทุน หากคนไทยสามารถตามทันโลกดิจิทัลได้ น่าจะทำให้เมกะโปรเจ็ค EEC ต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต
ทุกวันนี้ โครงการสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา (เปิดให้บริการปี 2566-2567) 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก (เฟสแรกเปิดปี 2567) 3.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ตามแผนเปิดปี 2566) 4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ตามแผนเปิดปี 2568) 5.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (ตามแผนเปิดปี 2566)
โครงการ EEC จึงเป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือสำคัญ” ในการดึงดูดนักลงทุนของทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การขับเคลื่อนโครงการและเดินหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไปตามแผนงาน จึงมีความสำคัญยิ่งต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
เรื่องนี้ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน EEC ได้เดินหน้าต่อไป เพราะขณะนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทั่วโลกที่มองหาพื้นที่การย้ายเข้ามาลงทุน หลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไทยถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการย้ายพื้นที่เข้ามาลงทุน
เช่นเดียวกับที่ ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก สภาหอการค้าไทย ที่มองว่า ภาคเอกชนต้องการให้สร้างความชัดเจนในการขับเคลื่อนโครงการ EEC ต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หลังจากที่ผ่านมามีผู้สนใจและเข้ามาลงทุนในเขต EEC จำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่า EEC จะไม่ถูกยุบทิ้ง เพราะมีกฎหมายรองรับแล้ว
เมื่อนักลงทุนหน้าใหม่ๆ เริ่มขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และการระบาดของโควิด-19 สาเหตุที่เลือกลงทุนในประเทศไทย ก็เพราะเห็นถึงจุดแข็งของไทยด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และซัพพลายเชนที่ครบวงจร
ดังเห็นได้จากกรณีของนักลงทุนชาวไต้หวันที่ต้องการเข้ามาลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์และระบบสมาร์ท เพื่อผลิตอะไหล่และอุปกรณ์ของยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ
EEC ในวันนี้ จึงเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก แต่พัฒนาการของ EEC จะไม่ต่อเนื่องและยั่งยืน หากคนไทยเรายังตาม “โลกดิจิทัล” ไม่ทัน ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า พวกเราได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” กันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ชีวิตต้องอยู่กับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และโลกออนไลน์กันมากยิ่งขึ้น
เราทุกคน (ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และทุกวัย) จึงต้องเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เพราะเป็นยุคที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต ประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้พวกเราต้องเรียนรู้และปรับตัวเร็วขึ้น
โลกยุคดิจิทัลในวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป เมื่อวิถีชีวิตของพวกเราต้องเปลี่ยนใหม่เป็น New Normal ซึ่งทำให้พวกเราต้องใช้ชีวิตและทำงานอยู่กับโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ มากยิ่งขึ้น ดังนั้นการที่พวกเราจะอยู่รอดในโลกดิจิทัล จึงจำเป็นต้องมีทักษะของความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลเพิ่มขึ้น
ทักษะของ “ความเป็นพลเมืองดิจิทัล” (Digital Citizenship) ก็คือ พลเมืองที่สามารถใช้งานสื่อดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าใจถึงบรรทัดฐานของการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรมมีความเคารพในผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจกันในการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในระบบดิจิทัล
ทักษะที่ว่านี้ คือหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของพัฒนาการตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” และ “อุตสาหกรรม 4.0” ครับผม!