'สาธารณสุข' ของบฟื้นฟูฯ 5 หมื่นล้าน ดูแลบุคลากร-ซื้อยาสู้โควิด
ความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข รวมถึงความพร้อมเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์และสถานพยาบาลเป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้และยับยั้งโควิดไม่ให้ระบาดจนเป็นอุปสรรคการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ล่าสุดความคืบหน้าในการพิจารณาคำขอใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจของกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของวงเงิน 45,000 ล้านบาท สำหรับโครงการทางการแพทย์และสาธารณสุข
คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ได้รับคำขอใช้จ่ายเงินกู้ในส่วนนี้จากหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข และภายนอกกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ซึ่งต้องการงบประมาณแก้ไขสถานการณ์และป้องกันโควิด รวม 5.19 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการของหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข 41 โครงการ วงเงินรวม 43,900 ล้านบาท และโครงการของหน่วยงานภายนอกกระทรวงสาธารณสุข 193 โครงการ วงเงิน 8,050 ล้านบาท
สำหรับงบที่ยื่นขอส่วนนี้ใช้รองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย ค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผูู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 11 โครงการ วงเงิน 11,300 ล้านบาท แบ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข 1 โครงการ วงเงิน 10,000 ล้านบาทเศษ และหน่วยงานภายนอกกระทรวงสาธารณสุข 10 โครงการ วงเงิน 1,330 ล้านบาท
2.แผนงานเพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ 72 โครงการวงเงิน 7,410 ล้านบาท
3.แผนงาน เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่าอการบำบัดโรค ป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขวงเงิน 11,00 ล้านบาท
4.แผนงานการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 26 โครงการ วงเงิน 1.84 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของภาครัฐ 6 โครงการ วงเงิน 17,400 ล้านบาท และหน่วยงานภายนอกกระทรวง 20 โครงการ วงเงิน 1,050 ล้านบาท
5.แผนงานเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้่อโควิด 66 โครงการ วงเงิน 3,600 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่ครม.อนุมัติการใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขและการแพทย์ไปแล้ว มี 4 โครงการรวมวงเงิน ได้แก่ 3,723.83 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.)ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นค่าตอบแทน อสม.และ อสส.รวมไม่เกิน 1.54 ล้านคนต่อเดือน (คนละ 500 บาทต่อเดือน) ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ย.2563 (รวม 7 เดือน) กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากกรอบเงินกู้ 45,000 ล้านบาท ของกระทรวงสาธารณสุข
โดยแบ่งการจ่ายออกเป็น 2 งวด ดังนี้ งวดแรกระหว่างเดือน มี.ค.–มิ.ย.2563 รวม 4 เดือน เป็นจำนวน 2,000 บาทต่อคน และงวดเดือน ก.ค.-ก.ย.2563 โดยจ่ายเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับบุคลากรอื่นด้านสาธารณสุข
2.โครงการพัฒนาศักยภาพของการผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซีนและยาชีววัตถุสำหรับโควิด 19 วงเงิน 48.65 ล้านบาท
3.โครงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วงเงิน 2.9 ล้านบาท
4.โครงการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในการป้องกันและการตรวจเชื้อโควิด-19 วงเงิน 50.2 ล้านบาท