5 เรื่องผิดปกติ ทาง 'การเงิน' ของคนไทย ที่ควรปรับ เพื่อกลับสู่การเงินที่เป็น 'ปกติ'

5 เรื่องผิดปกติ ทาง 'การเงิน' ของคนไทย ที่ควรปรับ เพื่อกลับสู่การเงินที่เป็น 'ปกติ'

แม้จะก้าวสู่ยุค "New normal" แต่ในโลกทาง "การเงิน" ไม่มีเรื่องใหม่ มีเพียงเรื่อง "Abnormal" ทางการเงินที่คนไทยอยู่กับมันจนคุ้นชิน ที่ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อก้าวสู่ความ "Normal" ที่ควรจะเป็น

"New normal" หรือ "ความปกติใหม่" เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่หลายคนมองว่า หลังจาก "โควิด-19" จบลง โลกจะเปลี่ยนไปตลอดกาล ทั้งพฤติกรรมของมนุษย์  เศรษฐกิจ สาธารณสุข รวมถึงภาคธุรกิจ แต่ใน "โลกการเงินส่วนบุคคล" อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

"หนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์" หรือ The Money Coach (เดอะ มันนี่ โค้ช) กล่าวในทอล์กโชว์ "SCB Presents Money Coach On Stage Special (เอสซีบี พรีเซนต์ มันนี่โค้ช ออน สเตจ สเปเชียล) ใดๆ ในโลกล้วน นอร์มัลลล" เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา

159645142386

เดอะ มันนี่ โค้ช เล่าถึงความปกติใหม่ทางการเงิน ผ่านมุมมองของผู้ที่มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับการแก้ปัญหาทางการเงินของคนไทย และให้ความรู้ทางการเงินมาตั้งแต่ปี 2548 เขาเชื่อว่าในช่วงวิกฤติ "โควิด-19" หรือวิกฤติครั้งไหนๆ ในโลกของ "การเงิน" ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพียงแต่ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตแบบ Abnormal หรือไม่ปกติ เช่น หนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบ 80% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่เราอยู่กับมันจนเป็นเรื่องปกติ

โดย "5 เรื่อง Abnormal" หรือเรื่องปกติที่คนไทยคุ้นชิน ที่ควรเลี่ยง หรือควรเลิก เพื่อให้สุขภาพการเงินของเราเป็นเรื่องปกติเสียที! ประกอบด้วย

159645112976

  •  Abnormal ของ "สหกรณ์ออมทรัพย์" 

จักรพงษ์ เล่าว่า จากประสบการณ์จริงที่เจอ พบปัญหาที่ซ่อนอยู่ในแหล่งเงินทุนใกล้ตัวของคนทำงานอย่าง "สหกรณ์ออมทรัพย์" ที่กลายเป็น "สหกรณ์กู้ทรัพย์" ซึ่งสร้างพฤติกรรมการเงินผิดๆ ในบางครั้ง เช่น

- การให้การสนับสนุนว่า ยิ่งกู้เยอะ ย่ิงดี ยิ่งกู้เยอะยิ่งปันผลเยอะ โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นในการกู้ยืม หรือไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระคืน
- กติกาการตัดเงินเดือนหน้าซองเหลือ 30% เพื่อชำระหนี้ เชื่อมโยงกับการสนุบสนุนให้กู้ในข้อแรก จนส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และยังเกินค่า DSR (Debt Service Ratio) หรือ อัตราความสามารถในการชำระหนี้ (DSR) ที่ไม่ควรเกิน 50% ของรายได้
- ค้ำประกันแหลกลาญ ต่างคนต่างค้ำประกันซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่การเป็นหนี้สินอิรุงตุงนังไม่รู้จบ
- ขายข้าวเขียว เอาปันผลที่จะได้ในอนาคตมาค้ำประกันข้าวที่ยังไม่สุกดี เพื่อเอาเงินไปก่อน เสมือนปันผลล่วงหน้า เจ้าหน้าที่สหกรณ์ออกมาทำเสียเองเพื่อเอาส่วนต่าง

แม้กรณีผิดปกติเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกสหกรณ์ แต่มีสหกรณ์ที่ดำเนินงานแบบนี้อยู่ไม่น้อย ซึ่งทั้งสมาชิก และบริหารสหกรณ์ที่ยังใช้ชีวิตแบบนี้จนเป็นปกติ จะนำไปสู่ความผิดปกติ ที่ส่งผลต่อสุขภาพการเงินของผู้ใช้บริการจนสุขภาพการเงินพังแบบไม่รู้ตัว

  •  Abnormal ของ "หนี้รถยนต์"

การมีหนี้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตไม่ใช่เรื่องผิด แต่หลายคนลืมพิจารณาว่า "ความจำเป็น" ที่กล่าวถึง คือความจำเป็นจริงๆ หรือแค่ข้ออ้างที่หยิบขึ้นมาสนับสนุนความอยากได้เท่านั้น 

จำเป็นจริงหรือเปล่า? ประเมินง่ายๆ ว่าถ้าเราไม่มีของสิ่งนั้นเราอยู่ได้หรือไม่

เดอะ มันนี่ โค้ช กล่าวว่า ปัจจุบันการออกรถง่าย และหลายคนมองว่าการมีรถยนต์เป็นเรื่องจำเป็น แต่สิ่งที่ควรพิจารณาต่อจากความจำเป็นคือ "ความพร้อม" ในการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ที่จะตามมาแบบปฏิเสธไม่ได้ เช่น การมีรถ 1 คันจะมีความจำเป็นอื่นๆ ตามมาด้วย อย่างค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าตรวจสภาพ ค่าประกันภัย ค่าภาษีประจำปี ฯลฯ

การมีรถยนต์ตั้งแต่เริ่มเรียนจบใหม่ๆ กลายเป็นค่านิยมอาจเกินความจำเป็นของใครหลายๆ คน ยิ่งไปกว่านั้น คือหลายคนเลือกที่จะกอดเก็บหนี้รถยนต์ไว้เพียงเพราะกลัวว่าจะดูไม่ดีในสายตาคนอื่น 

สิ่งที่ผิดปกติของหนี้รถยนต์ในปัจจุบัน คือการพยายาม "สร้างหนี้" ที่เกินกำลังของคนไทย ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นของต้องมี จนทำให้การเงินพังในระยะสั้นและระยะยาว หรืออาจออกจากวังวนเหล่านี้ไม่ได้เลยจนชั่วชีวิต ตราบใดที่ยังไม่มีความรู้ทางการเงิน 

159645115058

  •  Abnormal ของ "หวย" 

"สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล" เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำเงินให้รัฐได้สูงสุด ซึ่งแน่นอนว่าเงินเหล่านี้มาจากประชาชนทั้งประเทศที่หวังว่า "หวย" จะช่วยสร้างความโชคดีที่นำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าราวพลิกผ่ามือ

เป็นที่ทราบกันดีว่า "หวย" ไม่ได้มีแค่สลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ยังมีหวยอื่นๆ ที่หลายคนเล่นเป็นประจำไม่ว่าจะเป็น หวยใต้ดินลุ้นพร้อมกันกับหวยรัฐ หรือจะหวยหุ้นให้ลุ้นกันทุกวัน ฯลฯ หวยกับสังคมไทยจึงอยู่คู่กันมายาวนาน เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนคุ้นชิน

ทว่าหากมองในมิติในการบริหารการเงินส่วนบุคคล นี่กลับเป็นรูรั่วที่ทำให้หลายคนไร้เงินออม หรือมีสุขภาพทางการเงินที่ดีได้ยาก เพราะเงินจำนวนไม่น้อยที่จ่ายไปเพื่อแลกกับความโชคดีที่มีอยู่ไม่ถึง 1% ในทุกๆ งวด สูญเปล่าราวกับทำเงินร่วงหาย

เดอะ มันนี่ โค้ช แนะนำให้แบ่งเงินจากการซื้อหวย เปลี่ยนที่แห่งความหวังจากการลุ้นโชคจาก "หวย" แบ่งเงินมาลงทุนในกองทุนรวมบางส่วน อย่าสม่ำเสมอ ซึ่งเริ่มต้นลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท ตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุน ซึ่งจะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การวางเงินไว้อย่างถูกที่ถูกทาง ย่อมเกิดผลดีกว่าในระยะยาว 

  •  Abnormal ของการเป็น "นักลงทุนภาคบังคับ และการออมเงินที่ไม่มีสิทธิ์เลือก" 

อีกหนึ่งความผิดปกติที่น่ากังวล และหลายคนยังไม่เคยรู้ คือการเป็น "นักลงทุนภาคบังคับ" ของข้าราชการ ที่ได้รับสิทธิ์สะสมเงินบำเหน็จ บำนาญ ผ่านกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ (กบข.) มากกว่า 60% ของข้าราชการ ไม่ทราบว่าเงินที่ถูกหักไปสะสมในแต่ละเดือน มีการแบ่งลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรระหว่างที่ลงทุน 

ในทางเดียวกัน ที่ผ่านมาพนักงานบริษัทเอกชนหลายแห่งก็ตกอยู่ในสถานะ "ผู้ออมเงินที่ไม่มีสิทธิ์เลือก" เนื่องจากบางหน่วยงาน ตัดเงินเดือนแต่ละเดือนเพื่อนำไปลงทุนใน "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" โดยไม่มีแผนการลงทุนให้เลือก ไม่มีการให้ความรู้ด้านการลงทุนกับพนักงาน 

ลักษณะเหล่านี้ นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะหลักการลงทุนที่ดี ผู้ลงทุนควรมีความเข้าใจในสิ่งที่ลงทุน สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน และความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ ดังนั้นในฐานะของข้าราชการที่มีการลงทุน กบข. หรือพนักงานเอกชนที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงานควรศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจในการลงทุน และติดตามเป็นระยะ เพื่อให้การลงทุนเพื่อชีวิตในวัยเกษียณมีประสิทธิภาพ และไปเป้าหมายที่ควรจะเป็น

1596451276100

  •  Abnormal ของ "แชร์ลูกโซ่" 

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นบ่อยจนในโลกของการเงินการลงทุน คือสิ่งที่เรียกว่า "แชร์ลูกโซ่" ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี มุกการเชิญชวนลงทุนสร้างเครือข่ายที่ได้ผลตอบแทนสูงลิบลิ่วในระยะเวลาสั้นๆ ก็ยังมีผลต่อความรู้สึกของผู้ถูกชักชวนเสมอ โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อคือ "ความไม่รู้" "ความโลภ" รวมไปถึง "ความสิ้นหวัง" ที่ทำให้ตัดสินใจแบบไม่รอบคอบ 

เดอะ มันนี่ โค้ช แนลักษณะอาการที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ที่ต้องระวัง คือ

1. มีการรับประกันผลตอบแทน เนื่องจากการลงทุนจะไม่สามารถรับประกันผลตอบแทนที่แน่นอนได้ 
2. ผลตอบแทนสูงผิดปกติ (เกิน 10% ต่อปีไปมาก) 
3. ต้องชวนคน ยิ่งชวนคนมาก ยิ่งผลตอบแทนมาก
4. รูปแบบการสร้างรายได้คุมเครือ
5. มีการกดดัน และแดกดันคนที่ไม่เห็นด้วย

ฉะนั้นเมื่อถูกชักชวนให้ลงทุนสร้างความมั่งคั่ง อย่าลืมนึกถึง 5 ข้อนี้ เพื่อช่วยกรองใช้เห็นความจริงที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดอย่างลืมว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน" 

159645139972

ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ล้วนมีส่วนทำให้คนไทยกลาย "เป็นหนี้" หรือ "การเงินพัง" ด้วยหลากหลายเหตุผล จนสะท้อนจากตัวเลข "หนี้ครัวเรือน" ให้พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ตราบใดที่คนส่วนยังมองพฤติกรรมการเงินสุดผิดปกติเหล่านี้เป็นความปกติอย่างที่ผ่านมา โดย เดอะ มันนี่ โค้ช ยังทิ้งท้าย 5 ข้อ ที่ควรเป็น "Normal" ทางการเงิน สำหรับคนไทยไว้ว่า

  • จัดสรรเงินออม (และลงทุน) ให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายได้
  • แบ่งเงินออมส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ได้อย่างน้อย 6 เดือน
  • ควบคุมเงินชำระหนี้ต่อรายได้ DSR (Debt Service Ratio) ไม่ให้เกิน 50% ของรายได้
  • มองหาหนทางสร้างรายได้ 2 อาชีพที่ 3 กิจการที่ 4
  • เรียนรู้วิธีการวางแผนการเงิน เพื่อความมั่งคั่ง และยั่งยืน