กขค.โชว์ผลงาน 2 ปี 8 เดือน เคลียร์คดีคงค้างสางคดีใหม่ สร้างความเป็นธรรมทางธุรกิจ
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สรุปผลการทำงานในช่วง 2 ปี 8 เดือน หลังจากแยกตัวเป็นองค์กรอิสระ ตอกย้ำการทำงานดูแลให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้า ป้องกันการผูกขาด การเอารัดเอาเปรียบในการทำธุรกิจ
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวถึงผลการทำงานนับตั้งแต่ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้มีผลบังคับใช้วันที่ 5 ต.ค. 2560 จนถึงปัจจุบัน (ก.ค. 2563) รวมระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน ว่า ในด้านการดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ที่ค้างมาจากกฎหมายฉบับเดิมปี 2542 จำนวน 10 เรื่อง ได้พิจารณาเสร็จแล้ว 7 เรื่อง ซึ่งมีคดีสำคัญที่ กขค. พิจารณาว่ามีความผิดและลงโทษปรับทางอาญาไปแล้วจำนวน 1 เรื่อง ได้แก่ กรณีเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ที่มีการใช้อำนาจเหนือตลาดกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับคู่ค้า ส่วนที่เหลือ ได้ยุติเรื่องส่งอัยการ 6 เรื่อง และสอบสวนเพิ่มเติม 3 เรื่อง ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้
“สถิติจำนวนเรื่องร้องเรียน ระหว่างช่วงที่มีการใช้กฎหมายฉบับเดิม ตั้งแต่ปี 2542 - ก.ย. 2560 รวม 18 ปี มีการร้องเรียนรวม 102 เรื่อง หรือเฉลี่ยปีละ 5 – 6 เรื่อง ในขณะที่เรื่องร้องเรียนตามกฎหมายฉบับใหม่ ตั้งแต่ ต.ค. 2560 - ก.ค. 2563 รวม 2 ปี 8 เดือน มีจำนวนทั้งสิ้น 53 เรื่อง หรือเฉลี่ยปีละ 18 เรื่อง จะเห็นได้ว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากภายหลังจากที่ กขค. ชุดปัจจุบันเข้ามารับหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจมีความมั่นใจในการบังคับใช้กฎหมาย และมั่นใจว่ากฎหมายให้ความเป็นธรรมได้"
นายสันติชัย กล่าวว่า กขค. ยังได้มีการพิจารณาการควบรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อน โดยได้อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจจำนวน 1 ราย เป็นธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งมีการควบรวมธุรกิจของบริษัทแม่ในต่างประเทศ และไม่มีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ ทั้งนี้ยังได้ดำเนินการลงโทษปรับทางปกครอง จำนวน 2 ราย เพราะควบรวมแล้วไม่แจ้งตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
นายสันติชัยกล่าวว่า กขค. ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือเรียกสั้นๆ ว่า ไกด์ไลน์ เพื่อเป็นการป้องปรามและสร้างมาตรฐานทางการค้าให้มีธรรมาภิบาล โดยที่ผ่านมาได้จัดทำไกด์ไลน์ซี่งมีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ไกด์ไลน์ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และ ไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งมีอีก 1 ไกด์ไลน์ คือไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้ กำลังอยู่ระหว่างการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และน่าจะบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้ และล่าสุด กขค. ได้การจัดทำ “ร่าง” แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่าง ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร หรือ ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง
นายสันติชัย กล่าวว่า ด้านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กขค. ยังได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศได้ร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เดินสายให้ความรู้ด้านกฎหมายการแข่งขันทางการค้ารวมทั้งสิ้น 76 จังหวัด ทั่วประเทศ ส่วนในต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับองค์กรกำกับการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น โออีซีดี อังค์ถัด ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงแนวทางการสืบสวนสอบสวนเพื่อพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีมาตรฐานเป็นสากล
นายสันติชัย กล่าวว่า ทั้งนี้กขค. ได้ตั้งเป้าที่จะเร่งรัดการพิจารณา เรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยแต่ละคดีต้องมีระยะดำเนินการไม่เกิน 1 ปี อีกทั้งจะเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานศาลยุติธรรม หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจเฉพาะ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นต้น เพื่อร่วมกันทำงานให้เป็นเอกภาพ
นอกจากนี้จะทำ MOU ร่วมกับสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้า การสร้างฐานข้อมูลการดูแลธุรกิจที่เสี่ยงทำผิดกฎหมาย โดยจะจัดตั้ง Business Intelligence Unit ในการเป็นศูนย์วิเคราะห์ข้อมูล เฝ้าระวัง สอดส่องและติดตามพฤติกรรมทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจ โดยจัดทำบัญชีรายชื่อประเภทธุรกิจที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดและอาจใช้อำนาจเหนือตลาดในทางมิชอบ ที่ต้องมีการติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จากนั้นจะเพิ่มรายการสินค้าและบริการที่ต้องติดตามเพิ่มเติมต่อไป
ขณะเดียวกัน มีแนวคิดที่จะจัดทำศูนย์ข้อมูลกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของทุกประเทศในอาเซียน เพื่อให้นักธุรกิจของไทยที่ประสงค์จะเข้าไปลงทุนในอาเซียนได้ศึกษา สามารถมาปรึกษาขอคำแนะนำและตรวจสอบข้อมูลได้ที่สำนักงานฯ รวมทั้งยังจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและการปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป