ผ่าอาณาจักรธุรกิจอาหาร 'CRG' ปี 63 ครองแบรนด์อะไรบ้าง

ผ่าอาณาจักรธุรกิจอาหาร 'CRG' ปี 63 ครองแบรนด์อะไรบ้าง

เปิดอาณาจักรธุรกิจอาหาร "เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป" หรือ "CRG" ปัจจุบันมีธุรกิจอะไรอยู่ในมือบ้าง หลังปั้นแบรนด์ใหม่ต่อเนื่อง รวมถึง "Brown Cafe" พร้อมเจาะงบการเงิน 3 ปีหลังสุด ท่ามกลางการแข่งขันเดือดในตลาดเชนร้านอาหาร มูลค่ากว่า 4 แสนล้านของไทย

ยังคงเดินเครื่องรุกตลาดเชนร้านอาหาร-คาเฟ่อย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี (CRG) หนึ่งในผู้นำธุรกิจเชนร้านอาหารของประเทศ เมื่อตัดสินใจขยายพอร์ตคาเฟ่ของหวาน-เครื่องดื่ม ด้วยการทุ่มเงินประมาณ 65-70 ล้านบาท เพื่อลงทุนในบริษัทบราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด โดยเป็นการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม 18,352 หุ้น และซื้อหุ้นเพิ่มทุน 28,976 หุ้น ซึ่งหลังจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้ว จะทำให้ CRG ถือหุ้นในบริษัทบราวน์ ดีเซิร์ท ในสัดส่วน 51%

เหตุผลที่ CRG เลือกลงทุนในบราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 เป็นเพราะบริษัทดังกล่าวดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหาร ของหวาน เบเกอรี่ และเครื่องดื่มภายใต้ชื่อทางการค้า "Brown Cafe" (บราวน์ คาเฟ่)

รายได้หลักของบราวน์ ดีเซิร์ท มาจาก Brown Cafe ในไทย ซึ่งปัจจุบันเปิดดำเนินการ 11 สาขา โดยเป็นสาขาที่บราวน์ ดีเซิร์ท เป็นเจ้าของเอง 10 สาขา และเป็นสาขาที่ให้สิทธิในการบริหาร (Franchise) อีก 1 สาขา

Brown Cafe นับเป็นแฟรนไชส์ร้านอาหารแบรนด์ล่าสุดของ CRG โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัลเป็นเจ้าของแบรนด์ดังกว่า 10 แบรนด์ ครอบคลุมร้านอาหารหลายประเภทตั้งแต่ฟาสต์ฟู้ด โดนัท ไอศกรีม และอาหารญี่ปุ่น รวมไปถึง KFC, Mister Donut, Auntie Anne’s, Yoshinoya และ  Cold Stone Creamery

ด้วยความเป็นบิ๊กแห่งวงการธุรกิจเชนร้านอาหาร CRG ยังเป็น 1 ใน 3 แฟรนไชส์ซีร้านไก่ทอดยักษ์ใหญ่อย่าง KFC ที่มีสาขาในไทยมากกว่า 600 แห่ง

นอกจากนี้ อีกหนึ่งแบรนด์ดังของ CRG อย่าง Mister Donut มีสาขาในไทยถึง 340 แห่ง ตามด้วย Auntie Anne's แบรนด์เบเกอรี่ชื่อดังอีกราว 140 แห่ง ไล่เรียงมาถึงหมวดของหวานคือธุรกิจไอศกรีมแบรนด์ Cold Stone ซึ่งมีทั้งหมด 17 สาขา

นอกจากแบรนด์ของหวานแล้ว CRG ยังมีเชนร้านอาหารคาวอย่าง เปปเปอร์ ลันช์ อีก 38 สาขา รวมถึงร้านอาหารที่ลุยธุรกิจเองอย่าง The Terrace อีก 15 สาขา 

"ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้" คงเป็นคติของเซ็นทรัล ที่จัดการซื้อแฟรนไชส์และนำเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นหลากแบรนด์ ทั้ง ชาบูตง ราเมน, โยชิโนยะคัตสึยะ และเทนยะ ส่วนแบรนด์ โอโตยะ นั้น CRG จัดการซื้อกิจการไม่ต้องลงทุนตั้งต้นกันใหม่ และปรากฏว่าถูกจริตกับผู้บริโภค ทำให้ขณะนี้มีสาขาราว 44 สาขา 

เมื่อปี 2562 CRG ขอเปลี่ยนแนวมาลองสตรีทฟู้ดเจาะตลาดแมสบ้าง โดยส่งร้านอาหารไทยแบรนด์ "อร่อยดี" ชื่อง่าย ๆ ที่ชวนเข้าไปลิ้มลอง และ "สุกี้เฮาส์" สุกี้สไตล์โฮมเมด ราคาสบายกระเป๋า

CRG ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 และปัจจุบันยังมีความช่ำชองในฐานะผู้รับสิทธิ (Franchisee) ซึ่งมีประสบการณ์อันยาวนานกว่า 40 ปี ในการบริหารและจัดการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ได้รับการยอมรับจากเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) โดยมีแบรนด์ธุรกิจอาหารบริการด่วนที่หลากหลาย (Multi-Brand) มากกว่า 1,000 สาขา ทั่วประเทศ ครอบคลุมอาหารหลายรูปแบบเกือบทุกประเภทในธุรกิจนี้

สาขาแบรนด์ร้านอาหารในเครือ CRG ณ เดือน ธ.ค. 2562 หรือก่อนเข้าไปถือหุ้นข้างมากใน Brown Cafe เมื่อไม่นานนี้ CRG มีแบรนด์อยู่ในมือทั้งหมด 15 แบรนด์ รวม 1,064 สาขา ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท 370 สาขา, เคเอฟซี 279 สาขา, อานตี้ แอนส์ 182 สาขา, เปปเปอร์ ลันช์ 47 สาขา, ชาบูตง 19 สาขา, โคล สโตน ครีมเมอรี่ 17 สาขา, เดอะเทอเรส 10 สาขา, โยชิโนยะ 19 สาขา, โอโตยะ 50 สาขา, เทนยะ 15 สาขา คัตสึยะ 36 สาขา อร่อยดี 15 สาขา, สุกี้เฮ้าส์ 3 สาขา, ซอฟท์แอร์ 1 สาขา และเกาลูน 1 สาขา นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ "สลัดแฟคทอรี่" ที่ CRG เข้าไปถือหุ้นราว 51% มีสาขาให้บริการ 7 สาขา

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ปัจจุบัน CRG ถือหุ้นโดยบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 620 ล้านบาท และเมื่อดูงบการเงินช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของ CRG พบว่ามีรายได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มีกำไรลดลงใน 2 ปีหลัง

ในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 11,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 2.55% ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ราว 569.6 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 16.35%

ส่วนในปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 11,007 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 9.18% ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ราว 680.94 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.31%

และในปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 10,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 4.07% ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่เกือบ 690 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.81%

159904153789

สำหรับปี 2563 ซึ่งเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด-19 จนธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทำให้มีแนวโน้มสูงที่รายได้จะน้อยกว่าปีที่แล้ว CRG จึงตั้งเป้ารายได้รวมของทั้งปีนี้ไว้ที่กว่า 10,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ CRG ประกาศไว้ว่า จะต้องมีรายได้ 22,000 ล้านบาทภายในปี 2565 พร้อมตั้งเป้าขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดฟู้ดเชนแซงหน้า "ไมเนอร์" และ "เอ็มเค กรุ๊ป" อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูกันว่า หนึ่งในขาใหญ่ของตลาดอย่าง CRG จะบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานนี้ได้หรือไม่?!