เดินทางเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีแต่ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยยังคงเต็มไปด้วยความผันผวน ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19
แม้สถานการณ์ในประเทศจะดีขึ้นมาก จนรัฐบาลตัดสินใจเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มพิเศษเดินทางเข้าไทย เพื่อหวังฟื้นคืนเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว
แต่ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าเราจะควบคุมการระบาดได้แล้ว เพราะสถานการณ์ในหลายประเทศยังน่าวิตก เนื่องจากพบการระบาดรอบใหม่อยู่เรื่อยๆ ดังนั้น ประเด็นโรคโควิด-19 จะยังถ่วงบรรยากาศการลงทุนต่อไป จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนขึ้นมาใช้ได้จริง
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามภาพเศรษฐกิจในประเทศ ที่หลายฝ่ายมองตรงกันว่าจุดต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดการระบาดรอบใหม่หรือไม่? ส่วนประเด็นการเมืองในประเทศห้ามกะพริบตา โดยจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค. นี้ ขณะที่ในฝั่งสหรัฐฯ ศึกเลือกตั้งใหญ่ใกล้เข้ามาซึ่งดูแล้วดุเดือดแน่นอน
เมื่อตลาดยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง มีหลายประเด็นให้ติดตาม ดังนั้น ธีมการลงทุนคงต้องเลือกเฟ้นหุ้นอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งในช่วงสั้นนี้ใกล้เข้าสู่ฤดูประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปี 2563 พอที่จะหยิบยกขึ้นมาเลือกหุ้นลงทุนได้
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เป็นอีก 1 หุ้น ที่บรรดากูรูมองว่าผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้วในไตรมาส 2 และการฟื้นตัวจะชัดเจนขึ้นแทบทุกธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีที่ได้รับอานิสงส์จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของปูนใหญ่ฯ หลังภาคอุตสาหกรรมของจีนกลับมาเดินเครื่องแทบเป็นปกติ สะท้อนจากตัวเลขดัชนีภาคการผลิต ยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เร่งตัวขึ้นทุกเดือน ซึ่งอุตสาหกรรมที่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน คือ ยานยนต์ โดยยอดขายรถยนต์ในจีนไตรมาส 3 ปี 2563 เติบโตในอัตราตัวเลขสองหลักสูงที่สุดในรอบ 2 ปี นอกจากนี้ กลุ่มปิโตรเคมียังได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ส่วนกลุ่มซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างภาพรวมอาจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นฤดูหน้าฝน ถือเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา งานก่อสร้างต่างๆ ชะลอออกไปก่อน โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐที่ต้องรองบประมาณใหม่ซึ่งจะเริ่มต้นเบิกจ่ายตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์น่าจะเห็นการฟื้นตัวอิงไปกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อัดเงินลงไปเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของคนในประเทศ ขณะที่ตลาดส่งออกก็เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ธุรกิจแพ็คเกจจิ้งยังได้รับอานิสงส์สำคัญจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตแบบก้าวกระโดด รับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาชอปปิ้งสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น หนุนความต้องการใช้กล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น
โดยขณะนี้ทาง SCC เตรียมที่จะแยกกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP โดยจะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 1,127.55 ล้านหุ้น และเป็นหุ้นส่วนเกิน หรือ “Greenshoe” อีก 169.13 ล้านหุ้น เคาะช่วงราคาเสนอขายไว้ที่ 33.50-35.00 บาทต่อหุ้น และคาดว่าจะเข้าเทรดในเดือน ต.ค. นี้
การขายหุ้นไอพีโอของ SCGP ช่วยจุดพลุเติมเสน่ห์หุ้นแม่ SCC ให้กับมาอยู่ในสายตาของนักลงทุนอีกครั้ง ด้วยสูตร “ซื้อหุ้นแม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นไอพีโอ” เนื่องจากจะมีการจัดสรรหุ้นไอพีโอให้กับผู้ถือหุ้น SCC จำนวนไม่เกิน 169.13 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็นสัดส่วน 13.04% ของจำนวนหุ้นไอพีโอทั้งหมด จึงกลายเป็นส่วนสำคัญในการช่วยดันราคาหุ้น SCC ไปด้วย
ยิ่งช่วงนี้กระแสไอพีโอกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในช่วงที่ตลาดขาดปัจจัยใหม่ ทำให้หุ้นไอพีโอของ SCGP ยิ่งเป็นที่ต้องการของนักลงทุน สะท้อนจากนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าจองซื้อกันเพียบ 18 ราย รวม 676.53 ล้านหุ้น หรือ ราว 60% ของหุ้นไอพีโอทั้งหมด เต็มเพดานที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า SCGP จะเข้าตลาดด้วยมาร์เก็ตแคปราว 1.4-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าจะเข้าเกณฑ์ “ฟาสต์แทร็ก” เข้าไปอยู่ในกระดาน SET50 ทันที เนื่องจากมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1% ของมาร์เก็ตแคปรวมที่กว่า 13.5 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่า SCGP เป็น “อภิชาตบุตร” ที่เข้ามาช่วยเกื้อหนุนหุ้นแม่อย่างแท้จริง มีลูกดีแบบนี้ “แม่” แฮปปี้!