'กมธ.การเมือง' พบ 'ปธ.รัฐสภา' 27 พ.ย. ขอเดินหน้าแก้รธน.ตั้ง 'สสร.' ธ.ค. นี้

'กมธ.การเมือง' พบ 'ปธ.รัฐสภา' 27 พ.ย. ขอเดินหน้าแก้รธน.ตั้ง 'สสร.' ธ.ค. นี้

"กมธ.การเมือง" พบ “วันนอร์” 27 พ.ย. ขอทบทวนเดินหน้าแก้รธน. ม.256 ตั้ง "สสร." ประเมินไทม์ไลน์ ธ.ค. เดินหน้าแก้รธน.เก่า ก่อนเลือกตั้ง70 ได้รธน.ใช้บังคับ

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์  วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าในวันที่ 27 พ.ย. เวลา 10.00 น. กมธ.พัฒนาการเมือง จะเข้าพบกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับการตัดสินใจของประธานรัฐสภาเรื่องการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่มหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลในอดีตได้ยื่นร่างแก้ไขเมื่อต้นปี2567 ซึ่งขณะนั้นประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุเข้าสู่วาระเพราะตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564  ว่า ต้องทำประชามติก่อนถึงบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ ขณะที่ตนและพรรคเพื่อไทยมองว่าสามารถบรรจุร่างแก้ไขได้โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่าในการหารือกับประธานรัฐสภา จะนำประเด็นและรายละเอียดที่ได้หารือกับนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเข้าพูดคุยด้วย ซึ่งตนหวังว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนการตัดสินใจ และสามารถเดินหน้ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนได้ ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือน ธ.ค.นี้

“หากประธานรัฐสภาทบทวนและบรรจุเรื่องเข้าสู่วาระพิจารณา ตามไทม์ไลน์แล้วสามารถเดินหน้าได้ในเดือนธ.ค. นี้ เบื้องต้นในการพิจารณาของรัฐสภาในการแก้ไขมาตรา 256 กำหนดให้มี สสร. อาจใช้เวลา 3-6 เดือน เมื่อทำเสร็จแล้วจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติรอบแรก และหากประชามติผ่าน จะเข้าสู่กระบวนการมี สสร. เพื่อทำรัฐธรรมนูญที่อาจใช้เวลา 6 - 12 เดือน ดังนั้นตามกลไกทำประชามติ 2 ครั้ง มีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ก่อนการเลือกตั้งปี2570” นายพริษฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่าประเด็นความเห็นต่างของร่างพ.ร.บ.ประชามติจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่อง เพราะหากความเห็นต่างระหว่าง สองสภา ในร่างพ.ร.บ.ประชามติ จนต้องพักร่างกฎหมายไว้ ไม่เป็นปัญหากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะในระหว่างนั้นสามารถเดินหน้าได้ และไม่เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความล่าช้าหรือกระทบไทม์ไลน์ที่ระบุไว้ ส่วนกรณีที่มีประเด็นตีความว่า ร่างพ.ร.บ.ประชามติเป็นร่างกฎหมายการเงินเพื่อย่อเวลาพักร่างกฎหมายที่เห็นแย้งระหว่างสองสภานั้น ตนมองว่า ร่างพ.ร.บ.ประชามติไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน

เมื่อถามว่าในไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญกังวลต่อเสียงสนับสนุนของสว.หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้เสียงสว. 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมายอมรับว่า ยุคสว.250 คนนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยุคนี้มีการวิเคราะห์จุดยืนของสว.ผ่านการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ แต่เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา เชื่อว่าจะเป็นประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า สว.มีจุดยืนอย่างไร.