Great Depression กับ COVID-19
วิกฤติเศรษฐกิจจาก COVID-19 นับว่ามีความรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันดูเหมือนจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่รวดเร็วแตกต่างจากวิกฤติครั้งก่อนๆ
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัวลง หรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เป็นอย่างมาก ทำให้หลายคนหวั่นเกรงว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกนั้นประสบกับภาวะถดถอยรุนแรง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก (Great Depression) ระหว่างปี 1929-1939
การตกต่ำของเศรษฐกิจโลกในครั้งนั้นเริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะกระจายเข้าไปยังยุโรป ละตินอเมริกา และญี่ปุ่น สร้างบาดแผลที่ยากจะลืมเลือนบนหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลก และเนื่องด้วยสหรัฐเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และมีข้อมูลที่มากเพียงพอ ทำให้นักวิเคราะห์มักจะนำข้อมูลของสหรัฐมาวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของวิกฤติทั้งสองครั้งนี้ โดยหนึ่งในนั้น คือ ดร.เดวิด วีลอค แห่ง Economic Research Federal Reserve Bank of St. Louise ซึ่งได้เปรียบเทียบผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันกับการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว ซึ่งมีข้อมูลน่าสนใจที่ขอหยิบยกมาโดยสังเขป ดังนี้
1.อัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจ พบว่า COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจ (GDP) ในสองไตรมาสแรกของสหรัฐหดตัวอย่างหนัก คือ ลดลง 5% ในไตรมาสแรก และ 31.4% ในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเมื่อนำมาเทียบกับวิกฤติปี 1929 ที่แม้เศรษฐกิจจะไม่หดตัวรุนแรงเท่าในช่วงแรกๆ แต่ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดต่ำสุดในอีก 3 ปีถัดมา ที่ขนาดเศรษฐกิจ (GNP) ลดลงไปถึง 32% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ
2.ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) COVID-19 ทำให้ดัชนี IP ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และในอัตราที่มากกว่าในปี 1929 เช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างที่สำคัญ คือ ในวิกฤติครั้งนี้ ดัชนี IP ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค. ในขณะที่ในปี 1929 นั้น ดัชนีปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึงเกือบสิบปีหลังจากนั้น
3.อัตราการว่างงาน COVID-19 ส่งผลให้อัตราการว่างงานของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 3.5% ในเดือน ก.พ. เป็นเกือบ 15% ในเดือนเม.ย.2563 ก่อนที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 7.9% ในเดือน ก.ย. ในขณะที่อัตราการว่างงานในช่วง Great Depression นั้น เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง จาก 2% ในปลายปี 1929 เป็นเกือบ 4% ในเดือนมิถุนายน 1930 และค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปจนแตะ 25% ในปี 1933 ซึ่งแม้อัตราการว่างงานจะลดลงในที่สุด แต่ก็สูงเกินกว่า 10% อยู่นานหลายปีหลังจากนั้น
4.อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นั้นลดลงมากถึง 27% (ภาวะเงินฝืด) ในเดือน มี.ค.1933 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวิกฤติ COVID-19 แล้ว จะพบว่ารอบนี้ ดัชนีราคาไม่ลดลง เพียงแต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจุดต่ำสุดที่ 0.1% ในเดือนพ.ค.เป็น 1.4% ในเดือนก.ย.2563 ที่ผ่านมา
5.ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากถึงการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นในช่วง Great Depression โดยดัชนี S&P500 ในช่วงดังกล่าวลดลงไปมากที่สุดถึง 85% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนตื่นกลัว และเทขายหุ้นกันอย่างหนักในช่วงแรกๆ ของวิกฤติ COVID-19 เพราะเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง
แต่ในความเป็นจริงแล้วดัชนี S&P500 เมื่อแรกเริ่มของวิกฤติ COVID นั้น แม้ว่าจะลดลงอย่างรวดเร็ว ถึงกว่า 30% ในช่วงก.พ.-มี.ค.2563 แต่ก็กลับขึ้นมายืนอยู่เหนือระดับก่อนวิกฤติได้ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น
วิกฤติเศรษฐกิจจาก COVID-19 นั้น เรียกได้ว่ามีความรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่รวดเร็วแตกต่างจากวิกฤติครั้งก่อนๆ ส่วนที่ว่าการฟื้นตัวนี้จะยั่งยืนหรือไม่ เพียงใด หรือจะเป็นเพียงการฟื้นตัวสั้นๆ ก่อนที่จะถดถอยอีกครั้ง ปัจจัยสำคัญนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลสหรัฐ และประเทศต่างๆ จะสามารถควบคุมการระบาดได้ดีเพียงใด และรวดเร็วแค่ไหนนั่นเอง