‘ภาษีมรดก’ ต้องศึกษา เงินที่ได้อาจกลายเป็นทุกข์

‘ภาษีมรดก’ ต้องศึกษา เงินที่ได้อาจกลายเป็นทุกข์

การวางแผนและทำความเข้าใจ "ภาษีมรดก" เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ให้ไว ก่อนที่จะสายไปและอาจจะสร้างความยุ่งยากให้กับลูกหลานได้ในอนาคต

เมื่อมี 'วันเกิด' สัจธรรมชีวิตหนีไม่พ้น 'วันตาย' หรือวันที่เราลาจากโลกนี้ไป แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้เตรียมตัววางแผนในหลายเรื่องๆ โดยเฉพาะเรื่องของ “มรดก” ซึ่งนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ที่ควรต้องศึกษา และเรียนรู้ไว้ โดยเฉพาะคนที่มีมูลค่ามรดกมากยิ่งต้องเรียนรู้เรื่องนี้ให้ไว เพราะถ้าไม่จัดการมรดกให้ดีก็อาจเกิดปัญหาในอนาคตได้

ไม่ใช่แค่เจ้าของมรดกเท่านั้นที่ต้องศึกษาไว้ แต่สำหรับผู้รับมรดกก็ควรศึกษาด้วยเช่นกัน เพราะประเทศไทยมีกฎหมาย “ภาษีมรดก” ที่อาจจะก่อกวนใจผู้ที่ได้รับมรดก ทรัพย์สินที่ได้อาจจะกลายเป็นทุกข์ ทำให้กุมขมับในภายภาคหน้า

160390948515

  • ภาษีมรดกในประเทศไทย

คำว่า ‘มรดก’ ในภาษากฎหมายนั้นหมายความว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้น ย่อมตกทอดแก่ทายาททันที ทั้งนี้มรดกไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ข้อกฎหมายยังระบุว่า ทายาทที่สามารถรับมรดกได้นั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตามลําดับที่กฎหมายกําหนดไว้
  2. ทายาทโดยพินัยกรรม ได้แก่ ผู้รับพินัยกรรม

แต่ถึงอย่างนั้น หลังจากที่รู้ว่าอำนาจและมรดกของผู้ตายตกที่ใคร สิ่งที่ต้องจัดการเป็นลำดับต่อมาคือ การชำระ “ภาษีมรดก”

ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก แต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีการรับมรดก มีหลากหลายข้อ ได้แก่

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาตรา 1599 - มาตรา 1755

- พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

- พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558

- พระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท โดยต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทในอัตรา 10%

  • ภาษีมรดกในต่างแดน

หลายประเทศทั่วโลก มีการจัดเก็บภาษีมรดกอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ที่ล้วนแล้วแต่มีกฎหมายภาษีมรดกบังคับใช้มานานหลายสิบปี ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งมีการบังคับใช้ในปี 2559 ที่ผ่านมา

1603909656100

การจัดเก็บภาษีมรดกในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • การจัดเก็บภาษีจากกองมรดก หรือ Estate tax ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีจากกองทรัพย์สินของผู้ตาย
  • ภาษีการรับมรดก หรือ Inheritance tax ซึ่งเป็นการเก็บภาษีกับผู้ได้รับกองทรัพย์สินของผู้ตาย

นอกจากนี้ ก็ยังมีภาษีอีก 1 ประเภท ที่มีการจัดเก็บเช่นเดียวกัน นั่นคือ ภาษีการให้ หรือ gift tax ซึ่งบางประเทศจะจัดเก็บควบคู่ไปกับการเก็บภาษีมรดกด้วย โดย "ภาษีการให้" จะเรียกเก็บจากทรัพย์สินที่ผู้ตายให้แก่ผู้อื่นก่อนตาย ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะเรียกเก็บจากทรัพย์สินที่ผู้ตายให้แก่ผู้อื่นก่อนตายเป็นเวลาประมาณ 5-7 ปี

สำหรับประเทศที่มาการเก็บภาษีมรดกในอัตราสูงคือ

  • ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรียกเก็บร้อยละ 55
  • ประเทศญี่ปุ่น เรียกเก็บร้อยละ 50
  • ประเทศฝรั่งเศส เรียกเก็บร้อยละ 40

ทั้งนี้เงื่อนไขของการเก็บภาษีจะแตกต่างกันออกไป ในขณะเดียวกันประเทศสิงคโปร์ ก็มีการยกเลิกภาษีมรดกเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ รวมถึงประเทศออสเตรเลีย ก็มีการยกเลิกเช่นกัน เพราะเหตุจากการหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีมรดก ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเรียกเก็บภาษีมรดกไม่คุ้มค่ากับภาษีที่เรียกเก็บได้

  • วางแผนมรดกอย่างไรให้อุ่นใจทั้งครอบครัว

ความตายอยู่ใกล้ตัวเพียงชั่ววูบ ดังนั้นการเตรียมตัววางแผนสำหรับเหล่าไม้ใกล้ฝั่งโดยเฉพาะคนที่มีมรดกจำนวนมาก จึงต้องวางแผนและจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนะนำ 4 ขั้นตอนวางแผนมรดกเพื่อลูกหลานคือ

160390964332

1. ทำบัญชีทรัพย์สินอยู่เสมอ

เพื่อให้ทราบถึงสถานะทางการเงินของตัวเราเองว่า มีทรัพย์สินอะไรบ้าง เป็นมูลค่า เท่าไหร่ พร้อมทั้งวางแผนจัดสรรว่า ส่วนใดที่จะนำไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตและส่วนใด ที่จะต้องนำไปวางแผนมรดกเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง โดยทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษีมรดก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ หลักทรัพย์ตามกฎหมาย เงินฝาก และทรัพย์สินทางการเงิน

2. ศึกษากฎหมายภาษีมรดก

ศึกษากฎหมายภาษีมรดกและภาษีจากการให้ เพื่อวางแผนให้เกิดประโยชน์ในการให้มรดกอย่างสูงสุด

3. วางแผนการมอบมรดก

โดยการทยอยส่งมอบทรัพย์สินในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมและไม่ทำให้เสียภาษีมากจนเกินไป เช่น มีมรดก 40 ล้านบาทและทายาท 1 คน ก็สามารถทยอยมอบให้ปีละ 20 ล้านบาทจำนวน 2 ปี ก็จะไม่เสียภาษีจากส่วนเกินมูลค่าทรัพย์สินที่จะให้เป็นมรดก ทั้งนี้ ในการวางแผนมรดกควรพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ ไม่ควรให้มรดกชิ้นเดียวกันกับทายาทหลายๆ คนเพราะอาจจะเกิดปัญหาระหว่างทายาทตามมาได้ รวมทั้งไม่ควรรีบมอบมรดกเพราะกลัวการจ่ายภาษีจนเราเกิดความลำบากเมื่อทรัพย์สินถูกแจกจ่ายไปแล้ว

4. เลือกส่งต่อมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

หากมีมรดกจำนวนมากและไม่สามารถทยอยมอบให้ในเร็ววันได้ ก็ควรเปลี่ยนทรัพย์สินที่เสียภาษีมรดกเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การทำประกันชีวิตเพื่อรับสินไหมมรณกรรม โดยระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์เป็นทายาทที่เราต้องการมอบทรัพย์สินก้อนสุดท้ายไว้ให้

อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีและเรียกเก็บภาษีให้ครบถ้วน พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม หากเราไม่เสียภาษีตามกำหนด อธิบดีกรมสรรพากรก็จะมีอำนาจสั่งยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์มรดกได้ โดยไม่ต้องร้องต่อศาล ดังนั้น จึงควรวางแผนภาษีมรดกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอย่าลืมว่าการ “หลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก ถือเป็นความผิดอาญา”

----------------------

อ้างอิง : set.or.th , rd.go.th , forbesthailand.com